สธ.ย้ำประสิทธิภาพวัคซีนโควิด บูสต์เข็ม 3 แอสตร้าฯ/ไฟเซอร์ สกัดโอมิครอน 90%

สธ.ย้ำประสิทธิภาพวัคซีนโควิด บูสต์เข็ม 3 แอสตร้าฯ/ไฟเซอร์ สกัดโอมิครอน 90%

เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยระหว่างแถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม 108 ล้านโดส และในเดือนมกราคม 2565 ตามแผนที่ สธ.เสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) จะฉีดอย่างน้อย 9 ล้านโดส ซึ่งผ่านไปครึ่งทางเป็นไปตามเป้า

“อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคใหม่ วัคซีนชนิดใหม่ การติดตามประเมินผลติดตามวัคซีนเป็นระยะจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งการประเมินประสิทธิผลวัคซีนทำได้ 2 แบบ คือ เจาะดูเลือดภูมิคุ้มกัน ซึ่งยังไม่มีการอ้างอิงในระดับโลก แต่ตัวที่ดีจริงๆ คือ ฉีดแล้ววัดผลในพื้นที่จริง (Real world) โดยการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนโควิด-19 ทั้งสูตรปกติ คือ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ สูตรไขว้ รวมถึงบูสเตอร์ โดส ตั้งแต่เดือนสิงหาคม- ธันวาคม 2564 ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จ.เชียงใหม่ จ.กาฬสินธุ์ กรุงเทพมหานคร พบว่า เดือนสิงหาคม ที่จ.ภูเก็ต เป็นแอลฟา เดือนกันยายน-ตุลาคม ที่กรุงเทพฯ เป็นแอลฟาและเดลต้า เดือนธันวาคม ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นเดลต้า ล่าสุด โอมิครอน ที่ระบาดในคลัสเตอร์ร้านอาหาร จะพบว่าแต่ละช่วงเวลาเชื้อจะแตกต่างกัน อย่างกรณี จ.ภูเก็ต พบว่า วัคซีนเชื้อตาย ประสิทธิภาพป้องกันติดเชื้อร้อยละ 27 ป้องกันป่วยหนักเสียชีวิตได้ ร้อยละ 90 ส่วนกรุงเทพฯ ป้องกันการติดเชื้อได้ ร้อยละ 66 สิ่งสังเกตจากข้อมูลจะเห็นว่าประสิทธิผลการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตดีมากในทุกสายพันธุ์คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะฉีดสูตรปกติ ฉีดสูตรไขว้ หรือบูสเตอร์ได้ประมาณร้อยละ 90-100 ด้วยซ้ำไป” นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประการที่ 2 ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ จะเห็นว่าแต่ละสูตรมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ดีพอสมควร แต่บางสูตรเห็นว่าน้อย ต้องนำเรียนว่าปัจจัยหนึ่งคือ ระยะเวลาการฉีด ซึ่งการฉีดใหม่ๆ ช่วง 2-3 เดือนแรกค่อนข้างสูง แต่ผ่าน 3 เดือนไปจะลดลง แต่เมื่อสังเกตว่า เมื่อมีการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 หรือ เข็มที่ 4 ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อจะสูงขึ้น

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นระยะ พบว่า การฉีดวัคซีนทุกประเภท ทุกสูตรมีประสิทธิผลสูงมากร้อยละ 90-100 การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ประเภทเดียวกัน หรือสูตรไขว้ มีประสิทธิผลสูงพอสมควร ในการป้องกันติดเชื้อ โดยประสิทธิผลจะลดลง ส่วนการฉีดเข็มที่ 3 เพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อให้สูงขึ้นและช่วยควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม การกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือ ไฟเซอร์ มีประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตได้สูงไม่แตกต่างกัน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 กระตุ้น ทั้งสูตรแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ป้องกันโอมิครอนได้ถึงร้อยละ 80-90

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวว่า ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นนโยบายสำคัญ โดย 1.ผู้ที่ถึงกำหนดรับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะประกอบด้วย 1.ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าฯ ครบในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ให้ฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เป็นหลัก 2.ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้า ครบ 2 เข็ม ในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ให้ฉีดกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ 3.ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เป็นหลัก

“ขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ และกระจายไปให้ถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พี่น้องประชาชนสามารถสอบถาม รพ.สต.หรือโรงพยาบาล (รพ.) ใกล้บ้านได้” นพ.โอภาส กล่าวและว่า 2.การให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่มีประวัติการเติดเชื้อ ให้ฉีดแอสตร้าฯ กระตุ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ หรือครบตามเกณฑ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์ ก่อนการติดเชื้อ

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวย้ำว่า คนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 ให้ไปฉีดกระตุ้นในเดือนธันวาคม 2564 ส่วนคนที่ฉีดเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 ให้กระตุ้นเดือนมกราคม 2565 และคนที่ฉีดครบเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 ให้ฉีดกระตุ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ส่วนคนฉีดครบเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ให้ฉีดเดือนมีนาคม 2565 ตรงนี้จะทำให้สามารถควบคุมการระบาด โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีประชาชนส่วนหนึ่งกังวลเรื่องวัคซีนว่า หากฉีด mRNA แล้วเข็มต่อมาจะไม่สามารถฉีดชนิดอื่น หรือถอยกลับไปฉีดแอสตร้าฯ ได้ เพราะต้องฉีด mRNA เท่านั้นหรือไม่ รวมทั้งข้อกังวลว่า ปี 2565 วัคซีนไฟเซอร์จะเพียงพอในการฉีดหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะไล่เรียงจากวัคซีนชนิดเชื้อตาย คือ ซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม จากนั้นจะฉีดวัคซีนชนิดไวรัลแวกเตอร์ เป็นเข็มกระตุ้น หรือเข็มแรก คือ แอสตร้าฯ และค่อยมาเป็นชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา

“ที่ผ่านมา สธ.ได้ดำเนินการฉีดตามสูตรที่แจ้งไปแล้ว ทั้งสูตรปกติ สูตรไขว้ หรือเข็มกระตุ้น โดยปี 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ สธ.จัดซื้อวัคซีนจำนวน 90 ล้านโดส ในจำนวนนี้มีไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ซึ่งมีเพียงพอ และขอให้มั่นใจว่า การฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ประสิทธิภาพไม่แตกต่างในการป้องกันโรค และลดการเสียชีวิต ขอให้ฉีดตามสูตร หรือวิธีการที่ สธ.กำหนด และยืนยันมีวัคซีนเพียงพอ” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image