คนไข้โควิดที่บ้านกว่า 27% ไม่ได้อาหาร สปสช.เร่งปรับระบบ ส.ภัตตาคารฯ จี้รัฐเบิกเร็ว

คนไข้โควิดที่บ้านกว่า 27% ไม่ได้อาหาร สปสช.เร่งปรับระบบ ส.ภัตตาคารฯ จี้รัฐเบิกเร็ว

วันที่ 19 มกราคม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการค่าอาหารของผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เข้าระบบกักตัวที่บ้านและชุมชน ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าร้านอาหารที่เข้าโครงการได้ค่าจัดทำอาหารต่ำกว่ารายการเบิกจ่าย และกรณีที่ผู้ป่วยร้องเรียนว่าอาหารที่ได้รับแต่ละมื้อน้อยไม่สมราคาว่า ล่าสุด สปสช.ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น โดยทำการประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดหาอาหาร กรณีที่มีการร้องเรียนลงโซเชียลมีเดียถึงเรื่องอาหารที่ได้รับ

“เข้าใจว่าเป็นคลินิก ซึ่งก็มีการยอมรับว่าได้ส่งอาหารนั้นไปจริง แต่ที่ส่งไปเป็นส่วนเสริมของอาหาร และเบื้องต้นได้ชี้แจงไปยังผู้ที่ร้องเรียนในโซเชียลมีเดียแล้ว ซึ่งทางผู้ร้องเรียนก็ได้มีการแก้ไขข่าวแล้ว ในเจตนาของ สปสช. คือจ่าย 1,000 บาทต่อวัน มีคนถามว่า ราคาอาหารเท่าไรกันแน่ ซึ่งในตอนแรกเราไม่ได้แยกออกมาว่าค่าอาหารเท่าไร เราก็บอกว่าจริงๆ มันเป็นเรื่องของหน่วยบริการที่ต้องจัดอาหาร ซึ่งเข้าใจ เพราะว่าคนไข้บางคนได้รับอาหารแล้วรู้สึกว่าอาหารนี้ราคาไม่ถึง 400 บาท แค่ 40-50 บาทเท่านั้น ดังนั้น สปสช.จึงต้องประสานกับหน่วยงานเหล่านี้ ให้จัดหาอาหารที่เหมาะสม ซึ่งบางรายยอมรับว่าไปจ้างคนอื่นทำ และไม่ได้มีการคุมราคาให้ครบถึง 400 บาท” นพ.จเด็จกล่าว

นพ.จเด็จกล่าวว่า ล่าสุด สปสช.ได้ออกกติกาใหม่ว่า หากมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าสู่ระบบโฮม/คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ให้เพิ่มเพื่อน หรือแอดไลน์ของ สปสช.ด้วย และเมื่อได้รับอาหารให้ถ่ายรูป และส่งรูปนั้นเข้าไปในไลน์ สปสช.

Advertisement

“จะมีคนคอยมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลา ถ้าเขาให้อาหารที่คุณภาพต่ำจากความเป็นจริง สปสช.จะตัดเงิน 400 บาทออก ซึ่งแปลว่าถ้าคุณไม่ส่งอาหาร หรือส่งอาหารที่คุณภาพต่ำ คุณก็จะไม่ได้เงิน 400 บาทนี้ แต่คนที่เสียผลประโยชน์นี้คือชาวบ้านที่ได้อาหารคุณภาพต่ำ หรือไม่ได้รับเลย ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดเรื่องนั้น เลยขอให้ประชาชนถ่ายรูปและส่งรูปมาให้เรา เราจะนำเอาหลักฐานนี้ไปพูดคุยกับหน่วยบริการด้วย” นพ.จเด็จกล่าว

วันเดียวกัน สปสช.จัดประชุมหน่วยบริการทางการแพทย์ทั่วประเทศ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ชี้แจงการจัดส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าระบบการรักษาที่บ้าน

พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า เมื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการโฮม ไอโซเลชั่น หรือบางบ้านอาจจะเข้าสู่คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น หรือโฮเทล ไอโซเลชั่น แล้ว รัฐจะรับผิดชอบดูแล ด้วยสิ่งต่างๆ เช่น การตรวจหาเชื้อ และดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาล และดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร โดยงานหลักที่ รพ.ต้องดูแล คือ อาหาร นอกจากนี้ ยังรับผิดชอบเรื่องของใช้อื่นๆ ด้วย

Advertisement

พญ.กฤติยากล่าวว่า สำหรับค่าดูแลผู้ป่วยทั้งที่บ้าน โรงแรม รพ.สนาม และฮอสปิเทล มี 1.เหมาจ่ายค่าติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา ค่าอาหาร 3 มื้อ ในอัตรา 1,000 บาทต่อคนต่อวัน คนละไม่เกิน 10 วัน และ 2.ค่าดูแลการให้บริการผู้ป่วย (ไม่รวมค่าอาหาร) และติดตามประเมินอาการ การให้คำปรึกษาจ่ายแบบเหมาจ่าย ในอัตรา 600 บาทต่อคนต่อวัน คนละไม่เกิน 10 วัน

“สปสช.มีแนวทางการปรับการจ่ายเงิน ซึ่งคาดว่าจะปรับใช้ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ โดยถ้าผู้ป่วยอยู่ในความดูแลของ สปสช. 7 วันขึ้นไป สปสช.จะเหมาจ่ายให้หน่วยบริการหัวละ 12,000 บาท แต่ถ้าอยู่ไม่ถึง เช่น อาการหนักจนต้องส่งต่อเข้า รพ. จะปรับลดเงินลง นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกแบบที่ไม่รวมค่าอาหาร เนื่องจากคนไข้สะดวกจัดหาอาหารด้วยตัวเอง ก็สามารถทำได้ แต่เป้าหมายหลักคือ ต้องการให้ผู้ที่ติดเชื้ออยู่บ้าน ไม่ออกไปซื้อหาอาหารเอง” พญ.กฤติยากล่าว

พญ.กฤติยากล่าวว่า สปสช.มีการติดตามผู้ที่เข้าระบบรักษาที่บ้าน โดยจะมีการโทรศัพท์ไปที่ผู้ป่วยในวันที่ 5-6 ของการรักษาด้วย ที่ผ่านมาพบว่ายังมีปัญหาเรื่องอาหาร โดยร้อยละ 27.76 ไม่ได้รับอาหารเลย ร้อยละ 5.6 ได้รับเป็นบางวัน และร้อยละ 66.63 ได้รับทุกวัน เว้นแต่บางคนมีอาหารพิเศษที่สามารถจัดหาเองได้

พญ.กฤติยากล่าวว่า หลังจากนี้ สปสช.จะปรับระบบการตรวจสอบให้ง่ายและไวต่อการจ่ายเงิน แต่ย้ำว่า สปสช.สามารถจ่ายเงินให้หน่วยบริการ และ รพ.เท่านั้น ไม่สามารถจ่ายตรงให้กับร้านอาหาร หรือบุคคลใดได้ ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้

ด้านนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า รัฐบาลให้เงินวันละ 400 บาท แต่เมื่อไปถึงร้านอาหารได้เพียงมื้อละ 45-50 บาทเท่านั้น จากการทำงานร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ผ่านมา กทม.จ่ายค่าอาหารมื้อละ 100 บาท ใน 1 วัน ประกอบด้วย อาหาร 3 มื้อ พร้อมผลไม้ นม ขนม และเครื่องดื่ม ซึ่งสำนักอนามัย กทม. จ่ายให้ร้าน 380 บาทต่อคนต่อวัน แบ่งเป็น ค่าอาหาร 300 บาท ค่าบริการเพื่อให้อาหารไปถึงมือผู้ป่วย 80 บาท แต่ในส่วนของ สปสช. เมื่อมีการจัดส่งงานเพื่อเบิกจ่ายเงิน ต้องเป็นไปตามระบบราชการ ยกตัวอย่าง งบประมาณ 100 กว่าล้านบาท เป็นค่าเอกสารเกือบ 4 ล้านบาท และต้องรอเงินที่จะได้รับกว่า 60 วัน จึงขอให้ปรับปรุงเป็นการเบิกจ่ายผ่านระบบออนไลน์แทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image