อนุทิน ย้ำ! ปลูกกัญชาการแพทย์ยังทำได้แค่วิสาหกิจชุมชน อนุมัติแล้ว 4พันไร่

อนุทิน ย้ำ! ปลูกกัญชาการแพทย์ยังทำได้แค่วิสาหกิจชุมชน อนุมัติแล้ว 4พันไร่

ภายหลังคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีมติเสียงส่วนใหญ่ปลดพืชกัญชา ออกจากรายชื่อยาเสพติดประเภท 5 (ยส.5) เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา และเตรียมเสนอ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. … ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บอร์ด ป.ป.ส.) ในวันที่ 25 มกราคม 2565 นั้น

วันนี้ (21 มกราคม 2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. … ซึ่งไม่มีการระบุ “พืชกัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ถือว่าเป็นการปลดล็อกกัญชา ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในการพัฒนาพืชกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ของประชาชน

นายอนุทิน กล่าวว่า เมื่อร่างประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ขึ้นไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ส. แล้ว ต้องถือว่าเป็นร่างฯ ที่ได้รับการเห็นชอบโดยคณะกรรมการทุกขั้นนตอนแล้ว ตั้งแต่ระดับอนุกรรมการ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เหลือเพียงนำส่งคณะกรรมการป.ป.ส. เท่านั้น

“สธ.ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนของคณะกรรมการ ป.ป.ส.ที่จะต้องให้การรับรองร่างฯ ระบุชื่อยาเสพติดประเภทที่ 5 ฉบับใหม่นี้ ซึ่งทำมาให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ปี 2564 ไม่มีคำว่ากัญชาอยู่ ทั้งนี้ กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่จะมาเป็นพืชเศรษฐกิจอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนคนไทย สิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า สำหรับการปลูกกัญชา ขณะนี้ประชาชนสามารถปลูกในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน นำไปใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการสร้างผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลิตยาที่มาใช้รักษาผู้ป่วย ได้อนุมัติให้ปลูกไปแล้วมากกว่า 4,000 ไร่ สิ่งที่ทำในวันนี้ คือ การทำให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนในการปลูกเพื่อนำมาใช้เป็นสินค้า ใบ ราก และต้น นำมาขายได้ ส่วนดอกที่สกัดมาแล้วได้สารทีเอชซี (THC) ไม่เกิน 0.2% สามารถนำมาสร้างรายได้ได้ ซึ่งเป็นระดับที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าเป็นประโยชน์ ส่วนสารซีบีดี (CBD) เป็นส่วนที่มีประโยชน์ซึ่งได้เข้ามาควบคุมแล้ว

“สำหรับการนำมาสูบซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายนั้น จะมีการออกกฎหมาย และ พ.ร.บ.มารองรับ ควบคุมเหมือนพืชกระท่อม ที่ สธ.และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้การพิจารณาสนับสนุน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยคำนึงถึงรายได้ ปากท้องประชาชน และทางการแพทย์เป็นหลัก ส่วนเรื่องอนุสัญญาระหว่างประเทศได้ระบุไว้ว่า หากใช้ทางการแพทย์และการวิจัยใช้พัฒนาเทคโนโลยีเสริมสร้างรายได้ให้ประชาชนสามารถทำได้ ซึ่งจะมีการชี้แจงในประเด็นนี้ต่อไป” นายอนุทิน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image