ผช.รมว.สุชาติ พบปะลูกจ้าง บ.ชิโคนี่ อีเลคทรอนิคส์ เร่งเครื่องฉีดวัคซีนผู้ประกันตนแปดริ้ว

ผช.รมว.สุชาติ พบปะลูกจ้าง บ.ชิโคนี่ อีเลคทรอนิคส์ เร่งเครื่องฉีดวัคซีนผู้ประกันตนแปดริ้ว

วันนี้ (21 มกราคม) นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจาก นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของบริษัท ชิโคนี่ อิเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการนำเข้าวัตถุดิบ วัสดุ อุปกรณ์ และอะไหล่ เพื่อผลิตอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม มี นางลู่ สู้ จุน ประธานกรรมการบริษัท ชิโคนี่ อิเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ

นายสุรชัยกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงแรงงานดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด โดยมาตรการสำคัญๆ อาทิ การตรวจคัดกรองเชิงรุก RT-PCR 100% ภายใต้โครงการ “แรงงาน…เราสู้ด้วยกัน” มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนผ่านโครงการ ม33เรารักกัน และการเยียวยานายจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัด การลดเงินสมทบ และเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี โครงการแฟคตอรี แซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) และการตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนเพื่อผู้ประกันตนมาตรา 33

“คณะได้ไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน และพบปะลูกจ้างของบริษัท ชิโคนี่ อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีลูกจ้างจำนวน 3,769 คน คนไทย 3,672 คน เป็นลูกจ้างต่างด้าว 97 คน ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) รวม 1,246 คน แยกเป็นคนไทย 1,233 คน ต่างด้าว 13 คน ส่วนที่เหลืออีก 2,533 คน เข้ารับการฉีดวัคซีนที่เทศบาลตำบล (ทต.) ท่าข้าม และ ทต.บางวัว ให้บริการฉีดโดยทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาล (รพ.) บางปะกง ทั้งนี้ พนักงานของบริษัททั้งหมดได้ลงทะเบียนขอรับบริการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 กับจุดให้บริการฉีดวัคซีนของ สปส. ซึ่งได้รับการฉีดแล้ว 223 คน เป็นคนไทยทั้งหมด” นายสุรชัยกล่าว

สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานประกอบการจำนวน 5,050 แห่ง ผู้ประกันตน 417,040 คน การจ้างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต การขายส่งขายปลีก การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าร้อยละ 86.61 การดำเนินการเยียวยาจากโควิด-19 นายจ้าง 9 ประเภทกิจการ จำนวน 2,211 ราย ลูกจ้าง 246,329 คน รวมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จำนวน 827,018,500 บาท โครงการส่งเสริมการจ้างงาน เอสเอ็มอี มีนายจ้างลงทะเบียนรับสิทธิแล้ว 2,838 ราย สามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้าง 47,375 คน รวมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 461,025,000 บาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image