หมอโอภาสชี้ผ่อนนั่งดริงก์ยาว ไม่ระวัง! ยอดโควิดพุ่งแน่ ยันติดเชื้อรักษาที่บ้าน-ATK มีประโยชน์

หมอโอภาสชี้ผ่อนนั่งดริงก์ยาว ไม่ระวัง! ยอดโควิดพุ่งแน่ ยันติดเชื้อรักษาที่บ้าน-ATK มีประโยชน์

เมื่อวันที่ 23 มกราคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่แนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อมากขึ้นหลังจากผ่อนคลายมาตรการ ว่า ขณะนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยที่ 8,000 รายต่อวัน ยังไม่ถือว่าพุ่งขึ้นมาก ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงก็ไม่มาก เป็นไปตามที่ฝ่ายสาธารณสุขได้คาดการณ์ไว้

“จริงๆ ถือว่าดีกว่าที่คาดไว้ แต่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนที่ติดเชื้อง่าย แพร่เชื้อเร็ว เราจึงยังต้องระวังอยู่ต่อเนื่อง เตียงไอซียูของโรงพยาบาล (รพ.) โรงเรียนแพทย์ ก็ยังมีเพียงพอรองรับ ซึ่งต่างจากช่วงเฝ้าระวังเชื้อเดลต้า ที่พบว่าผู้ป่วยอาการหนักค่อนข้างมาก ย้ำในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ เราจะให้รักษาที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งพิสูจน์ว่าเวิร์ก เพราะสะดวก มีช่องทางติดต่อแพทย์ หากผู้ป่วยอาการมากขึ้น เท่าที่ดูผู้ติดเชื้อที่อยู่ HI แล้วมีอาการเปลี่ยนต้องเข้าโรงพยาบาลก็มีไม่มาก” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากมีการขยายมาตรการให้นั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ในร้านอาหารได้ถึงเวลา 23.00 น. ใน 33 จังหวัด คาดการณ์ตัวเลขติดเชื้อไว้อย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า เราติดตามสถานการณ์ทุกวัน แต่อย่างที่เรียนรู้กันมาคือ เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการใด จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้น ตรงไปตรงมา เพราะถ้าเปิดกิจกรรมแล้วไม่ติดเชื้อเพิ่ม เราก็คงเปิดทุกกิจกรรม แต่ด้วยเราชะลอการเปิดกิจกรรมในช่วงแรก เพราะต้องรอประเมินว่าเชื้อโอมิครอน แท้จริงแล้วรุนแรงหรือไม่ แต่ตอนนี้พิสูจน์แล้วว่า เตียงไอซียูเพียงพอรองรับได้ เราจึงเปิดเป็นขั้นเป็นตอนไป โดยสถานบันเทิงประเภทผับบาร์ คาราโอเกะ ยังไม่เปิดให้บริการ ยกเว้นสถานบันเทิงเหล่านี้จะปรับตัวเองเป็นร้านอาหารที่นั่งดื่มได้ และได้รับอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้มาตรการควบคุมโรคแล้ว

“สำหรับร้านอาหารที่เปิดให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกกอฮอล์นั้น ย้ำว่า ต้องมีมาตรการโควิดฟรี เซ็ตติ้ง (Covid-19 Free Setting) พนักงานรับวัคซีนครบ ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ก่อนให้บริการลูกค้า จะไม่อิสระแบบเมื่อก่อน และย้ำในเรื่องร้านต้องถ่ายเทอากาศได้” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

เมื่อถามต่อว่า ในข้อทวงติงถึงมาตรการ ATK First ก่อนเข้าสถานที่/กิจกรรม อาจจะมีประโยชน์น้อย เพราะหากเพิ่งรับเชื้อมาแล้วยังตรวจไม่พบ แต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องเรียนว่า ATK เป็นเครื่องมือคัดกรองเบื้องต้น ที่แน่นอนว่าผลตรวจอาจจะไม่แม่นยำเท่ากับการตรวจ RT-PCR แต่ก็เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ เพราะว่าราคาถูกกว่า ตรวจง่าย รู้ผลเร็ว เราจึงใช้ประโยชน์นี้เพื่อคัดกรอง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องไปเจอคนมากๆ เราก็แนะนำว่าให้ตรวจได้ตามความเสี่ยง เพื่อป้องกันตัวเองและ คนรอบข้าง

“เราต้องรู้ว่าแต่ละวิธีมีจุดแข็งจุดอ่อน ดังนั้น จะให้ใช้ ATK แทน RT-PCR ก็คงไม่ใช่ ขอให้มองจุดแข็ง ประโยชน์ของเครื่องมือนั้นๆ ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image