11 องค์กร ร่วมเอ็มโอยูดันไทยสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกใน 5 ปี

11 องค์กร ร่วมเอ็มโอยูดันไทยสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกใน 5 ปี

วันนี้ (24 มกราคม 2565) ภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชน 11 องค์กร ได้แก่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  กรุงเทพมหานคร (กทม.) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero เพื่อร่วมผลักดันประเทศไทย สู่สังคมปลอดไข้เลือดออก ณ โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ เขตปทุมวัน

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ไข้เลือดออกส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งสร้างภาระทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับประเทศ การไม่สามารถเข้าถึงการรักษา ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกทำให้ไข้เลือดออกกลายมาเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อยๆ การสร้างความตระหนักในความสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรคเป็นกุญแจสำคัญที่จะต่อสู้กับโรคนี้

“พันธมิตรทั้ง 11 องค์กร ที่ได้ร่วมลงนามเอ็มโอยูนี้ จะร่วมมือกันทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยทั้งจากสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน จัดทำการคาดการณ์พื้นที่ความเสี่ยงสูง สื่อสารกับสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย และพัฒนาโครงการให้ความรู้สำหรับอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดูแลผู้ป่วย วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้คือ การเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วม และมีการดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน ในการกำจัดไข้เลือดออกให้ได้อย่างเด็ดขาดและยั่งยืน” ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัด กทม. กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก เกิดจากพาหะนำโรคอย่างยุงลาย มักมีการระบาดในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย ซึ่งการติดเชื้อไข้เลือดออกอาจทำให้อาการรุนแรง หากมีอาการแทรกซ้อนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ความตระหนักรู้ ความเข้าใจในการป้องกันโรค ทั้งภาคประชาชนและบุคลากรด้านสาธารณสุข จะช่วยลดอุบัติการณ์เกิดโรค ความรุนแรงของโรค และการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

“ทั้งนี้ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การระบาดของไข้เลือดออกในประเทศไทยนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้คนกว่า 350,000 ราย ที่ต้องเจ็บป่วยจากโรคนี้ โดยในปี 2562 มีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่า 130,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล และหากเป็นการระบาดร่วมกับโรคอื่นๆ จะยิ่งนำพามาซึ่งภาระทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และระบบสาธารณสุขของประเทศ” นพ.ชวินทร์ กล่าว

Advertisement

รองปลัด กทม.กล่าวว่า สำหรับเอ็มโอยู Dengue-Zero เดินหน้าวางแผนงาน 5 ปี เพื่อร่วมผลักดันประเทศไทยสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก โดยได้ตั้งเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.ลดอัตราการป่วยจากไข้เลือดออกลงให้ได้ร้อยละ 25 หรือให้ไม่เกิน 60,000 รายต่อปี 2.ลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 1 ต่อ 10,000 ราย และ 3.ควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลายในชุมชนให้ต่ำกว่า 5 หลังคาเรือน จากการสำรวจ 100 หลังคาเรือน ภายใต้กรอบการทำงานระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2569) ซึ่งองค์กรพันธมิตรดังกล่าวจะร่วมกันผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไข้เลือดออกผนึกกำลังป้องกันและลดความเสี่ยงต่อไข้เลือดออก รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมโรค ตลอดจนสนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมไข้เลือดออก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image