สปสช.ดึงจิตอาสาช่วยตรวจ ATK ค้นโควิดในชุมชน เล็งจ่ายให้หน่วยบริการแทนซื้อแจก

สปสช.ดึงจิตอาสาช่วยตรวจ ATK ค้นโควิดในชุมชน เล็งจ่ายให้หน่วยบริการแทนซื้อแจก

วันนี้ (25 มกราคม 2565) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วย ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ชุมชนริมคลองสายไหม กรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่เชื่อมต่อชุมชนแอนแน็กซ์และชุมชน กสบ.พัฒนา เพื่อมอบชุดตรวจโควิดแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ Antigen Test Kit (ATK) ให้กับพรหมธาดาคลินิกเวชกรรม สาขาตลาดวงศกร เพื่อนำไปตรวจแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยจะมีทีมงานกลุ่มอาสา “สายไหมต้องรอด” เป็นความร่วมมือกับทางคลินิกในการเข้าไปตรวจเชิงรุกให้กับกลุ่มเสี่ยงในชุมชน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จุดที่ไปทำการส่งมอบ ATK ในครั้งนี้ เป็นจุดที่พบคนในชุมชนติดโควิด-19 ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบเป็นกลุ่มเสี่ยง จึงมีความจำเป็นต้องทำการตรวจคัดกรอง ซึ่งรูปแบบในการตรวจคัดกรองครั้งนี้เป็นรูปแบบที่จิตอาสาเข้าไปช่วยตรวจ ATK ให้กับชุมชน เนื่องจากมีความคล่องตัว และสามารถไปได้ในหลายพื้นที่ ถือเป็นรูปแบบใหม่ที่หากได้ประสิทธิผลดี ในหลายๆชุมชนโดยเฉพาะชุมชนแออัดที่หน่วยราชการยังเข้าไม่ถึง สปสช. ก็จะใช้จิตอาสาร่วมกับคลินิกในพื้นที่เข้าไปตรวจเชิงรุกมากขึ้น

“ที่ผ่านมา จิตอาสาจะรับบริจาคหรือจัดซื้อชุดตรวจ ATK กันมาเอง ซึ่งในระบบของเราผู้ที่มีความเสี่ยงก็สามารถขอรับ ATK ได้ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง หรือไปรับที่ร้านยา แต่บางครั้งก็หาไม่ง่าย เพราะ ATK เหลือน้อยลง จะให้กลุ่มเสี่ยงในชุมชนไปเดินหาก็จะเสียเวลาและอาจไม่เกิดประสิทธิผล และการให้จิตอาสาเข้าไปทำการตรวจเชิงรุกในชุมชนจะตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า” นพ.จเด็จ กล่าว

Advertisement

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ช่วงนี้ จำนวนผู้ป่วยเริ่มทยานขึ้น แต่ตัวโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation), คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) รวมถึงฮอสปิเทล (Hospitel) ยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับผู้ติดเชื้อ รวมทั้งมีแผนสำรองจัดตั้งโรงพยาบาล (รพ.) สนามเพิ่มกรณีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงไม่น่ากังวลใจ

“ส่วนการดำเนินการจัดหา ATK ระยะต่อไป หลังจากที่กระจายล็อตแรก 8.5 ล้านชุดหมดแล้ว ขณะนี้มีการหารือว่า สปสช.จะจัดสรรเป็นงบประมาณให้แก่หน่วยบริการแทนที่จะซื้อชุดตรวจไปให้ ซึ่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ จะเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว

ด้าน นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก “สายไหมต้องรอด” กล่าวว่า โดยปกติกลุ่มจัดหา ATK ไปช่วยตรวจให้ประชาชนเอง โดยเน้นตรวจให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง และพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ ร้อยละ 20 ของที่ตรวจทั้งหมด ในกรณีที่ตรวจพบ จะแนะนำให้โทรเข้าสายด่วน 1330 เพื่อเข้าสู่ระบบ HI ก่อน แต่ถ้าอาการเปลี่ยนแปลง ทางกลุ่มก็จะจัดหารถไปรับตัวส่งโรงพยาบาลทันที

“การแพร่กระจายเข้าไปในชุมชนแล้ว คนที่พอมีฐานะไม่น่าห่วง แต่ที่ห่วงคือ ตามชุมชนแออัดและกลุ่มเปราะบาง เพราะชุนชนเหล่านี้อยู่แบบครอบครัวใหญ่ บางบ้านอยู่กัน 20 คน ก็มี ถ้ามีคนติดเชื้อขึ้นมา จะไปซื้อชุดตรวจสำหรับคนอื่นๆ ชุดละ 80 บาท รวมๆ เท่ากับ 1,000 กว่าบาท ซื้อข้าวกินได้ทั้งเดือน ระหว่างซื้อชุดตรวจกับข้าวสารเขาซื้อข้าวดีกว่า ทำให้การป้องกันและควบคุมโรคเป็นไปได้ยาก แต่ครั้งนี้ สปสช.เป็นหน่วยงานรัฐหน่วยแรกที่เข้ามาสนับสนุน การได้ ATK 2,000 ชุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก” นายเอกภพ กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.ณพัศ เนติวรรธนะ เจ้าของพรหมธาดาคลินิกเวชกรรม กล่าวว่า ชุดตรวจที่ได้รับวันนี้จะร่วมมือกับกลุ่มสายไหมต้องรอดนำไปแจกประชาชนแก่กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่รับผิดชอบในเขตสายไหม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image