หมอโอภาสย้ำ! 18 จว.รับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น โดส 3-4 ตามระยะ

หมอโอภาสย้ำ! 18 จว.รับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น โดส 3-4 ตามระยะ

เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกเดือนมกราคม 2565 ในประเทศไทย ในขณะนี้ สำหรับการระบาดของเชื้อโอมิครอนค่อนข้างทรงตัวเป็นเส้นตรง ทั้งผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยวันละ 8,000 ราย ผู้ป่วยอาการปอดอักเสบ 519 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 97 ราย และผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 7 วัน ย้อนหลังที่ 15 ราย ฉะนั้น ความกังวลเชื้อโอมิครอนตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 – มกราคม 2565 ที่อาจระบาดรุนแรงอย่างหลายประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ อังกฤษ ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา แต่พบว่าแนวโน้มของไทยไม่มีการระบาดรุนแรงอย่างที่กังวล ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ เป็นไปตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) สธ. และหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการ ร่วมกับความร่วมมือของประชาชนตามมาตรการ VUCA ที่สำคัญคือ ผู้ที่ยังลังเลจะฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 ก็ขอให้ติดต่อรับวัคซีนได้ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

นพ.โอภาสกล่าวถึงประเด็นการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้น ให้กับประชาชนทั่วไปว่า นโยบายของ สธ. ย้ำในเรื่องของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทั้งเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 โดยที่ได้ประกาศการกระตุ้นเข็มที่ 4 สำหรับผู้ที่รับเข็มที่ 3 ไปนานกว่า 3 เดือน ทั้งนี้ ในกลุ่มแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และประชาชนที่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี

“ล่าสุด ที่มีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) มีนโยบายเร่งเปิดประเทศรองรับเศรษฐกิจในพื้นที่สีฟ้า คือ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ที่จะมีคนต่างชาติเข้ามามาก เช่น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ กระบี่ พังงา กรุงเทพมหานคร นนทบุรี เกาะสมุย กาญจนบุรี เป็นต้น ซึ่งมาตรการสำคัญคือ คนในพื้นที่ต้องมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี จึงมีมติให้ฉีดเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 4 ให้ประชากรทั่วไปใน 18 จังหวัดด้วย โดยจะให้แนวทางเดียวกันกับการฉีดเข็มที่ 3 คือ ฉีดห่างกัน 3 เดือน” นพ.โอภาสกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ จะมีโอกาสเข้ามาทันการฉีดเป็นเข็มที่ 4 หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เบื้องต้นทราบข้อมูลจากผู้ผลิตวัคซีนคาดว่าจะมีวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างเร็วสุด คือ ไตรมาส 2 ของปีนี้ หรือระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน

Advertisement

“แต่ข้อมูลของเราพบว่า การฉีดเข็มกระตุ้นไม่เหมือนกับเข็มแรก เพราะหากเป็นเข็มกระตุ้นไม่ว่าจะเข็มไหน ก็จะมีประสิทธิภาพป้องกันโรค ป้องกันการติดเชื้อแล้วป่วยหนัก ป้องกันเสียชีวิตได้ดี ก็คงไม่ต้องรอ เพราะอาจจะช้าเกินไป การฉีดวัคซีน เราจะดูเรื่องประสิทธิภาพกับความปลอดภัย ควบคู่กับการระบาด หากเรารอไปถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โรคอาจระบาดมากเกินไป ดังนั้น ขอให้ฉีดในช่วงนี้ และตอนวัคซีนรุ่นใหม่เข้ามาแล้วมีเหตุการณ์ เช่น เชื้อกลายพันธุ์ ก็ค่อยใส่เติมเข้าไปอีกที” นพ.โอภาสกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image