อนุทิน ชี้โควิด ฟรี คันทรี ตั้งเป้าไทยไม่มีตาย ย้ำแม้เป็นโรคประจำถิ่น รัฐยังดูแลรักษาตามสิทธิ

อนุทิน ชี้โควิด ฟรี คันทรี ตั้งเป้าไทยไม่มีตาย ย้ำแม้เป็นโรคประจำถิ่น รัฐยังดูแลรักษาตามสิทธิ

วันที่ 28 ม.ค. ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีการเตรียมประกาศให้โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ว่า ตามที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. ให้ข้อมูลว่าเราจะมีการประเมินสถานการณ์ในเดือน ก.พ. เพื่อหาวิธีต่อไป ทั้งเรื่องการรายงานผู้ติดเชื้อ เฝ้าระวังอาการผู้ป่วย อัตราเสียชีวิตต่อจำนวนติดเชื้อ

ทั้งนี้ เราไม่ต้องการเร่งตัวเลข แต่เราต้องการลดความรุนแรงของโรค เพื่อให้อยู่กับมันได้ ฉะนั้นหากโรคไม่แรง เราต้องรับมือกับมัน ไม่ใช่ทุ่มเททุกกำลังแต่โรคไม่แรง เพื่อให้ทุกอย่างก้าวหน้าไป

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับการติดเชื้อรายใหม่ตอนนี้ก็คงที่ 6-8 พันราย เตียงไอซียูมีเพียงพอ มียา วัคซีนพร้อม โดยวันที่ 31 ม.ค. ก็จะเริ่มฉีดให้เด็ก 5-11 ปี ก็เป็นการลดกลุ่มการแพร่เชื้อ ส่วนจำนวนเสียชีวิตเฉลี่ย 10-20 ราย ซึ่งยังเป็นกลุ่ม 608 หรือคนไม่ได้รับวัคซีน

ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิครอบคลุมแล้ว 20% ซึ่งก็จะไล่ตามระยะเวลาของผู้ที่รับเข็ม 2 มาแล้ว 3 เดือน อย่างไรก็ตามการระบาดรอบ ม.ค.64 ติดเชื้อไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว เพราะตอนนั้นเราให้ผู้ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาล(รพ.) ทุกราย แต่ปีนี้เรากล้าที่จะใช้ระบบรักษาที่บ้าน(Home Isolation) จึงทำให้เราควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้นมาก

Advertisement

“การจะลดจากแพนเดอร์มิก(Pandemic) เป็นเอนเดอร์มิก(Endemic) ก็เพื่อที่จะทำให้กลไกประเทศขับเคลื่อนต่อไป คนทำมาหากิน จ้างงาน ผลิตงานส่งออกมากขึ้น ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุดด้วยความระมัดระวัง ด้วยมาตรการ VUCA ที่คนไทยให้ความร่วมมือมาเป็นอย่างดีโดยตลอด จะมีประเทศใดบ้างที่สื่อสารโควิดกันทุกวันอย่างเมืองไทย ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือหมด คนป่วยโควิดได้รักษา เข้าถึงแพทย์ทุกคนแม้กระทั่งการรักษาที่บ้าน(HI) หากเป็นต่างประเทศต้องรอให้อาการหนักก่อน ถึงจะพบแพทย์ได้ แต่เมืองไทยเราดีอยู่แล้ว” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามว่านักวิชาการกังวลว่าการเตรียมประกาศเป็นโรคประจำถิ่นจะทำให้คนคลายมาตรการตัวเอง นายอนุทิน กล่าวว่า แม้จะเตรียมเข้าโรคประจำถิ่น แต่ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ VUCA อย่างเข้มงวดเช่นเดิม พร้อมด้วยความตั้งใจที่เราจะออกจากโควิด ด้วยการเตรียมแนวทางเพื่อวางแผนต่างๆ

เมื่อถามถึงมาตรการ Covid-19 Free Country นายอนุทิน กล่าวว่า เราก็วางแผนในการทำให้ประเทศไทย ปลอดโควิด-19 ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะต้องติดเชื้อเป็น 0 ราย แต่หากทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดี ฉะนั้น หลักสำคัญที่เรากำหนด คือ การตายเป็น 0 ราย ซึ่งเราก็เคยทำได้ในปีก่อนๆ นานถึง 6 เดือน คำว่า COVID Free ไม่ได้หมายความว่าโควิดไม่มีแล้วในโลก แต่หมายความว่าโควิดทำอะไรเราไม่ได้ ซึ่งเราจะทำให้ไปในทิศทางนั้นให้จนได้

Advertisement

“ปัจจุบันก็ยังพบการติดเชื้อจากการรับประทานอาหารร่วมกัน ดื่มเหล้าร่วมกัน ดังนั้นรู้เหตุแล้วก็ต้องพยายามเลี่ยง เพราะฉะนั้นย้ำว่าเป้าหมายคือลดตายให้เป็นศูนย์ หากกรณีมีการเสียชีวิตก็ต้องไปดูว่ามปัจจัยอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เช่น กลุ่ม 608 ซึ่งเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ หรือไม่ เป็นต้น หากนับว่าเสียชีวิตเพราะโควิด ก็คงไม่จบ แต่หากเสียชีวิตจากการติดเชื้อ แล้วเชื้อลงปอด แบบนี้เป็นเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องมาว่ากันต่อ” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เรายังไม่ได้ประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่เป็นการประกาศเกณฑ์กว้างๆ ไว้ ซึ่งในสัปดาห์หน้า กรมควบคุมโรคจะมีแนวทางออกมาว่าเราต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อเตรียมเข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยแผนของเราจะแบ่ง 2 เฟสละ 6 เดือน เงื่อนไขคือ หากไม่มีไวรัสอื่นเข้ามา เราก็คาดว่าใน 6 เดือนเราต้องทำอะไรบ้าง ให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ เราต้องมีความพร้อมทั้งการประกาศกฎหมายที่ตอนนี้โควิดยังอยู่ในโรคติดต่ออันตราย การฉีดวัคซีน การรักษาพยาบาล ที่ต้องสอดคล้องกันไป

ส่วนเรื่องการรักษา ก็เป็นไปตามสิทธิซึ่งประเทศไทยมีทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ สำหรับคนที่ได้หลักประกันเช่นแรงงานตค่างด้าว ก็ต้องดูแลกันต่อไป ทั้งนี้ที่ผ่านมาใช้งบประมาณในการดูแลไปแล้วกว่า 4 พันล้านบาท เมื่อของบประมาจากรัฐบาล ก็ให้มาไม่เคยต่อรอง ดังนั้นการเป็นโรคประจะจำถิ่นไม่ได้กระทบสิทธิการรักษา

“วันนี้ครบรอบ 2 ปีของการประชุม EOC ตั้งแต่วันแรกในวันที่ 28 ม.ค.2563 ประชุมกันรวม 411 ครั้ง เพราฉะนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศอะไรออกมา แต่ผ่านการประชุมหารือร่วมกันแล้ว โดยดูเรื่องความรุนแรงของโรค การมีภูมิต้านทานของคนในประเทศ ความสามารถในการรักษา เวชภัณฑ์ การรับรู้ของประชาชน และอื่นๆ 2 ปีที่ผ่านมาเราจึงต้องพยายามทำให้ไม่เกินปีนี้โควิดจะต้องเป็นโรคประจำถิ่น เพราะถ้าปล่อยไปเฉยๆ ก็จะใช้เวลามาก อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการระบาดเป็นครั้งคราว แต่ก็ใช้การบริหารจัดการ ซึ่งเราก็ทำมาตลอด แลเราก็ทำได้ ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงได้กำหนดเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่นและกำหนดมาตรการวิธีต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกัน” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image