อนุทินยัน สปสช.เพิ่มบริการรักษาผู้ป่วย ฟอกไตฟรี! ลดภาระค่าใช้จ่าย ปชช.

อนุทินยัน สปสช.เพิ่มบริการรักษาผู้ป่วย ฟอกไตฟรี! ลดภาระค่าใช้จ่าย ปชช.

เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือร่วมกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และ นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเลือกวิธีฟอกไตได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 มีมติเห็นชอบข้อเสนอการช่วยเหลือค่าบริการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง และให้เริ่มดำเนินการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ในวันนี้เป็นการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการ โดยเฉพาะหน่วยบริการฟอกไตที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยฟอกไตในภาพรวม

“ข้อเสนอนี้เกิดจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ได้รับฟังปัญหาของผู้ป่วยฟอกไตสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีหลายคนต้องจ่ายเงินค่าฟอกไตครั้งละ 1,500 บาท เนื่องจากไม่ต้องการล้างไตผ่านช่องท้องตามหลักเกณฑ์กองทุนบัตรทองที่กำหนดให้เป็นบริการแรกของการบำบัดภาวะไตวายเรื้อรัง เนื่องจากมีความกังวลและจำเป็น ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายและเดือดร้อน จึงนำมาหารือกับ สปสช. ซึ่งจากผลการศึกษาปรากฏว่าสามารถทำได้ และใช้งบประมาณเพิ่มไม่มาก โดยบอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยกลุ่มนี้และครอบครัวดีขึ้น ขณะเดียวกันระบบยังเกิดการดูแลสุขภาพประชาชนได้ครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น” นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.จเด็จกล่าวว่า หลักการพิจารณาคือ ให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจเลือกวิธีล้างไตร่วมกับแพทย์ที่ทำการรักษา โดยคำนึงถึงเศรษฐานะ พยาธิสภาพของโรค ปัจจัยทางสังคม และความเหมาะสม ทั้งนี้ สามารถเข้ารับบริการได้ทุกหน่วยบริการ ไม่เฉพาะสถานพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น

“ปัจจุบันมีผู้ป่วยฟอกไต 30,802 ราย ในจำนวนนี้ 6,546 ราย เป็นกลุ่มที่ไม่สมัครใจล้างไตทางช่องท้อง และเลือกจ่ายเงินฟอกไตเอง ส่วนผู้ป่วยล้างทางหน้าท้องมี 32,892 ราย ในจำนวนนี้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปใช้วิธีฟอกไตประมาณ 5,000 ราย โดยจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 1,079.9 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 ระยะ 8 เดือน จะใช้งบ 719.9 ล้านบาท ซึ่ง สปสช.จะนำงบเหลือจ่ายของปี 2564 ที่ไม่มีภาระผูกพันนำมาดำเนินการ” นพ.จเด็จกล่าว

Advertisement

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ต้องเริ่มนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก เพราะติดข้อจำกัดจำนวนหน่วยบริการไตเทียมและบุคลากรมีไม่เพียงพอ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่ต้องการฟอกไตได้ ส่งผลให้มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการล้างไตผ่านช่องท้องต้องจ่ายค่าฟอกไตเอง แต่ปัจจุบันมีการจัดตั้งหน่วยบริการไตเทียมมากขึ้น ก็น่าจะเพียงพอรองรับดูแลผู้ป่วยได้ และคาดว่าผู้ป่วยไตวายที่จะฟอกไตเพิ่มส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยใหม่ เพราะผู้ป่วยเก่าที่ล้างไตผ่านช่องท้องและสบายดีอยู่แล้ว ก็น่าจะใช้วิธีล้างไตเดิมต่อไป

นายธนพลธ์กล่าวว่า การเปิดให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วมกับแพทย์ในการตัดสินใจเลือกวิธีการบำบัดไต รวมถึงยกเลิกเก็บค่าบริการฟอกเลือดนั้นจะช่วยลดภาระให้ผู้ป่วยและครอบครัว เนื่องจากผู้ป่วยต้องรับบริการฟอกไต 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมเป็นค่าใช้จ่ายเกือบ 20,000 บาทต่อเดือน ถือว่าสูงมาก โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่กังวลและฝากติดตามคือความเพียงพอของหน่วยฟอกไตเทียมและบุคลากรในการให้บริการ คงต้องตามดูสถานการณ์หลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ แต่เชื่อว่า สธ.และ สปสช.ได้เตรียมความพร้อมของระบบเพื่อรองรับไว้แล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image