กรมอนามัยประเมินสุขภาพ-สวล.หาดแม่รำพึง ห่วงตลาด-สถานประกอบการรับผลกระทบน้ำมัน

กรมอนามัยประเมินสุขภาพ-สวล.หาดแม่รำพึง ห่วงตลาด-สถานประกอบการรับผลกระทบน้ำมัน

วันนี้ (30 มกราคม 2565) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม ได้มอบหมาย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ร่วมกับ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 6 นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย นำทีมปฏิบัติการจากสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์ทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล จ.ระยอง

ด้าน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ในเบื้องต้นพบคราบน้ำมันดิบบริเวณหาดแม่รำพึง (ลานหินดำ) และในพื้นที่มีสถานประกอบการ 15 แห่ง ตลาดแพปลาประมงพื้นบ้าน 3 แห่ง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม หากมีการสัมผัส หรือเข้าสู่ร่างกาย โดยผลกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน เช่น หายใจลำบาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะผู้มีอาการภูมิแพ้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ก็จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ และหากมีการสัมผัส ทางดวงตาและผิวหนังโดยตรง อาจส่งผลให้ทำให้เกิดการระคายเคือง

“นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบแบบเรื้อรัง และระยะยาว หากได้รับสารพิษในปริมาณความเข้มข้นเกินมาตรฐาน และได้รับเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อระบบไต ตับ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท และในกรณีที่มีการกินอาหารทะเล ที่มีสารปนเปื้อนสารโลหะหนักที่เกินค่ามาตรฐาน ในระยะยาวมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการเร่งแก้ปัญหาในทุกส่วน กรมอนามัยจึงมีข้อแนะนำ สำหรับการปฏิบัติงาน ดังนี้ 1.เฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพบุคคล โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จำแนกความเสี่ยงของผู้รับสัมผัสสารพิษเป็น 3 ระดับ คือ เสี่ยงสูงมาก (เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเก็บกู้คราบน้ำมัน) เสี่ยงปานกลาง (เจ้าหน้าที่ทีมสนับสนุนในพื้นที่) และเสี่ยงต่ำ (ประชาชน และนักท่องเที่ยว) เพื่อการติดตามผลในระยะสั้นระยะกลาง และระยะยาว จัดทำข้อมูลความเสี่ยงสุขภาพรายวันสำหรับผู้ที่มีโอกาสรับสัมผัสสารเคมี ทั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานและประชาชนเพื่อใช้สำหรับการกำกับ ติดตาม และเฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพในระยะยาวและสำรวจข้อมูลร้านอาหาร หรือร้านจำหน่ายอาหารทะเลพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือจากชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ ให้ผู้ประกอบการ แจ้งข้อมูลแหล่งที่มา ของวัตถุดิบจำพวกอาหารทะเล หรือสัตว์ทะเลที่ใช้ประกอบเป็นอาหารจำหน่ายแก่หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจต่อประชาชนในการเลือกซื้ออาหารทะเลที่มาจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน ไม่มีการปนเปื้อนของสารพิษจากคราบน้ำมัน รวมถึงสำรวจข้อมูล เพื่อการกำกับ ติดตาม และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสสารพิษจากกรณีน้ำมันรั่วไหลในทะเลของกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก

“2.สื่อสารความเสี่ยง สร้างการรับรู้ และมีคำแนะนำประชาชน รวมทั้งสถานประกอบการ ด้วยการให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการรับมือต่อผลกระทบสุขภาพ หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในจุดที่มีความเสี่ยงต่อการมีคราบน้ำมันที่ชายหาด หากพบว่ามีอาการผื่นขึ้น ผิวหนังอักเสบบริเวณที่สัมผัสกับคราบน้ำมันให้รีบปรึกษาแพทย์โดยทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทราบ อีกทั้ง แนะนำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและจำหน่ายอาหารทะเลพื้นบ้าน ดูแลป้องกันตนเองจากการรับสัมผัสสารเคมี เลือกหาปลาและจับสัตว์น้ำทะเลในบริเวณที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันดิบรั่วไหล เน้นย้ำประชาชนเลือกกินอาหารทะเลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และไม่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันดิบ รวมทั้งสังเกตลักษณะ กลิ่น สี และคราบน้ำมันในสัตว์ทะเล หากพบความผิดปกติให้หลีกเลี่ยงการกิน ส่วนกรณีได้รับกลิ่นไอระเหยจาก คราบน้ำมันให้สวมหน้ากากป้องกันสารเคมีตลอดเวลา” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image