กทม.เพิ่มสัญญาณไฟกะพริบ ทาสีตีช่องจราจรเพิ่มความปลอดภัยข้ามทางม้าลาย

กทม.เพิ่มสัญญาณไฟกะพริบ ทาสีตีช่องจราจรเพิ่มความปลอดภัยข้ามทางม้าลาย

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2565) นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม. โดยสำนักการจราจรและขนส่ง ได้ดำเนินการติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม (ทางม้าลาย) และสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่มหรือสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการข้ามถนนของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้ามไปแล้ว จำนวน 896 จุด และได้ดำเนินการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม (ที่มีสภาพบังคับแสดงสัญญาณเขียว เหลือง แดง) ไปแล้ว จำนวน 240 แห่ง

นายชาตรี กล่าวว่า ในปี 2565 มีแผนงานที่จะติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้ามเพิ่มเติมอีก 50 แห่ง และติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่มเพิ่มเติมอีก 100 แห่ง รวมทั้งจะพัฒนาและติดตั้งระบบตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดไม่หยุดรถให้คนข้าม หรือจอดรถกีดขวางทางข้าม โดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) บริเวณทางแยก และบริเวณทางข้ามที่ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรชนิดกดปุ่ม โดยจะประสานความร่วมมือกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่ในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อไป

Advertisement

“นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ข้ามถนนบริเวณทางข้าม และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดไม่หยุดรถให้คนข้าม หรือจอดรถกีดขวางทางข้ามแล้ว สำนักการจราจรและขนส่งยังได้ดำเนินการปรับปรุงกายภาพบริเวณก่อนถึงทางข้าม เพื่อสร้างความตระหนักเตือนให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะผ่านบริเวณทางข้าม ชะลอความเร็วและหยุดยานพาหนะให้คนเดินข้ามถนน ด้วยการจัดทำเครื่องหมายทางข้าม โดยเฉพาะบริเวณทางข้ามหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล และทางแยก ด้วยสีโคลด์พลาสติกสีแดง เพื่อให้มีความแตกต่างจากผิวการจราจรและเครื่องหมายจราจรโดยทั่วไป รวมถึงเพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นทางข้ามได้ชัดเจนยิ่งขึ้น” นายชาตรี กล่าว และว่า ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจัดทำทางข้ามด้วยสีโคลด์พลาสติกสีแดงไปแล้ว จำนวน 559 จุด อีกทั้งมีการจัดทำเส้นเตือนชะลอความเร็ว และเส้น Optical speed bar ในบริเวณก่อนถึงทางข้ามในจุดอื่นๆ เพื่อควบคุมผู้ขับขี่ยานพาหนะให้อยู่ในช่องทางของตนเอง ซึ่งมองดูแล้วจะเหมือนถนนแคบลง ทำให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และลดความเร็วก่อนถึงทางข้าม รวมทั้งมีการบำรุงรักษาเครื่องหมายจราจรทางข้าม และป้ายเตือนทางข้ามให้อยู่ในสภาพที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะสามารถมองเห็นได้ชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image