กทม.ติดตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบางทุกมิติ

กทม.ติดตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบางทุกมิติ

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2565) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการการรังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox) ระบบดิจิทัลจัดการข่ายงานปกป้องคุ้มครองเด็กในครอบครัวที่เปราะบาง ให้สร้างเสริมคุณภาพชีวิตตามศักยภาพ ตามข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) โดยมี นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัด กทม. ผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สพร. สสส. สวน. และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)

นายขจิต กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าภารกิจตามเอ็มโอยูระหว่าง กทม. สพร. สสส. และ สวน. ที่ร่วมจัดการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบาง บูรณาการระบบบริการทางสังคมและสุขภาพต่างภาคส่วน ให้เกิดความเป็นหุ้นส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิต ระหว่างผู้ปกครอง เด็ก ผู้ให้บริการแต่ละสาขาวิชาชีพ หน่วยงานจัดบริการ ผู้ขับเคลื่อนนโยบายในระดับเขต ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในระดับสำนักต่างๆ ของ กทม. ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผลงานสำคัญ

ประกอบด้วย 1.ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox) ชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตโซน 10 ที่เป็นโครงสร้างระบบงานในระดับชุมชนร่วมกับประชาคม ศูนย์เด็กเล็กชุมชนฟื้นนครร่มเกล้าโซน 10 และข่ายงานบริการสังคมจากฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ศูนย์บริการสาธารณสุขร่มเกล้า 45 โรงเรียนเคหะชุมชนร่มเกล้า และโรงเรียนสมโภชรัตนโกสินทร์ลาดกระบัง สำหรับเรียนรู้ บ่งชี้สัญญาณเตือนภาวะคุกคามที่ค่อนข้างวิกฤตเป็นอันตราย (ระดับสีแดง) ภาวะที่อาจผิดปกติต้องเข้ามาแก้ไข (ระดับสีเหลือง) รวมถึงภาวะที่ควรรักษาระดับไว้ไม่ให้ต่ำกว่านี้ในทุกช่วงชีวิต (ระดับสีเขียว) และการติดตามภาวะคุณภาพชีวิตของเด็กจากครอบครัวเปราะบางใน 4 มิติ จำนวน 90 ครอบครัว จากครัวเรือนทั้งสิ้น 365 ครัวเรือน

2.ผังภาพแสดงทั้งภาวะคุกคาม หรือภาวะขัดสน (Deprivation) ที่ทั้งครอบครัวและเด็กเผชิญอยู่ ให้เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกับครอบครัวและเด็ก จำนวน 48 คน จาก 20 ครอบครัว เพื่อท้าทาย (Challenge) และกระตุ้นผู้ปกครองและครอบครัวให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะปรับยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวและเด็กไปด้วยกัน โดยมีหน่วยบริการด้านต่าง ๆ จากภายในชุมชน และภายนอกพื้นที่จากหลากหลายความชำนาญการทางวิชาชีพ เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้มั่นคงและยั่งยืน มุ่งให้ครอบครัวก้าวพ้นความยากจน ในขณะที่สามารถสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้เด็กเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า

Advertisement

3.การพัฒนาต้นแบบของแพลตฟอร์มดิจิทัลการจัดบริการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิต 4 มิติ โดยเสริมหนุนให้พื้นที่ชุมชน ครอบครัว และเด็ก ใช้แพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing Platform) ตลอดจนส่งเสริมประสานภารกิจของสำนักต่าง ๆ ให้ร่วมจัดบริการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบางอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงไร้ตะเข็บ

4.สพร. ได้ร่วมออกแบบแพลตฟอร์มการบริการแบ่งปันข้อมูล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบาง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ในงบบูรณาการปี 2564 – 2565 ซึ่ง ครม.ได้กำหนดเป็นโครงการสำคัญที่สนองตอบต่อเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นผู้ติดตามให้เกิดความต่อเนื่อง จนสามารถสนับสนุนการขยายตัวและต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

และ 5.ภาคีความร่วมมือทั้ง 4 หน่วยงาน ได้วางแผน “ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox) ของโซน 10” สำหรับใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้เกิดการขยายไปปรับใช้ในเขตต่างๆ ของ กทม. และท้องถิ่นที่อาสาเข้าร่วมใน 4 ภูมิภาคด้วย ในช่วงปลายปี 2565

Advertisement

ปลัด กทม. กล่าวว่า กทม. มุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบาง ให้ได้รับโอกาสที่ดีตั้งแต่ในครรภ์ ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กและเยาวชนนั้นต้องอาศัยฐานคุณภาพชีวิตในครัวเรือน 4 มิติ ได้แก่ 1.มิติเศรษฐกิจ มีความเป็นอยู่และอาชีพมั่นคง 2.มิติสวัสดิภาพ ปกป้องและเอื้อสวัสดิภาพของเด็ก 3.มิติการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ และ 4.มิติสุขภาพ

ทั้งนี้ การร่วมดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบาง เริ่มขึ้นจากการลงนามเอ็มโอยูระหว่าง กทม. สพร. สสส. และ สวน. เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการทางสังคมและสุขภาพ มุ่งสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อมูลเฉพาะบุคคลของผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และผู้ขับเคลื่อนนโยบาย พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบาง โดยจัดพื้นที่ชุมชน และบุคลากรจากหน่วยบริการในเขตลาดกระบัง ทำการออกแบบและทดสอบเครื่องมือ ระบบงาน และระเบียบวิธีจัดการ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นต้นแบบบริการทางสังคมด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชน และครอบครัว ต่อเนื่องตลอดช่วงวัย ประกอบกับการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต กลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้ครอบคลุมทุกมิติแบบองค์รวม ทำให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางอย่างมีส่วนร่วมจากครอบครัวและชุมชนให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อให้ครอบครัวมั่นคงมีความสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำโดยไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image