นายจ้างทยอยนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู รมว.สุชาติ เผยยื่นขอแล้วกว่า 9 หมื่นคน 

นายจ้างทยอยนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู รมว.สุชาติ เผยยื่นขอแล้วกว่า 9 หมื่นคน 

วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2565) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามเอ็มโอยู (MOU) จำนวน 185 คน ได้เดินทางเข้าประเทศไทยทางด่านผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว หลังจากการดำเนินการตามขั้นตอนของทางการไทย มีแรงงาน จำนวน 158 คน เข้ากักตัวในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine) ในพื้นที่ จ.สระแก้ว ณ อาคาร อินโดจีน Grand Residence ศูนย์ OQ บริษัท สุวรรณภูมิอินเตอร์เฮลท์เมด จำกัด โดยจะต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยแรงงานกลุ่มนี้ได้รับวัคซีน ครบ 2 เข็ม จากประเทศต้นทาง และมีการซื้อกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 เมื่อครบกำหนดนายจ้างจะรับคนต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ

นายสุชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 25 64 ถึงปัจจุบัน มีนายจ้างยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand) แล้ว จำนวน 1,349 คำร้อง ต้องการแรงงานต่างด้าว จำนวน 90,071 คน แบ่งเป็น สัญชาติเมียนมา 65,064 กัมพูชา 18,873 คน ลาว 6,134 คน โดยจะเดินทางเข้าทางด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.ตาก 64,616 คน จ.สระแก้ว 18,873 คน จ.หนองคาย 6,128 คน จ.ระนอง 448 คน จ.มุกดาหาร 6 คน

“สำหรับทางการไทย เรามีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และส่วนราชการจังหวัด ในการจัดเจ้าหน้าที่ดูแลให้เกิดความสะดวกทุกขั้นตอน นอกจากนี้ ผมได้กำชับกรมการจัดหางาน (กกจ.) ประสานจังหวัดเพื่อจัดเตรียมความพร้อมสถานที่กักกัน เพื่อรองรับแรงงานที่จะเข้ามาทำงานตามเอ็มโอยู และทำให้นายจ้าง สถานประกอบการที่ต้องการจ้างงานแรงงาน 3 สัญชาติ มีแรงงานขับเคลื่อนกิจการโดยเร็ว เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะปัญหาขาดแคลนแรงงานสามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ” นายสุชาติ กล่าว

Advertisement

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดี กกจ. กล่าวว่า ในรอบนี้ กกจ.อนุมัติบัญชีรายชื่อทั้งสิ้น 220 คน แต่มีแรงงานกัมพูชาที่ไม่ได้เดินทางเข้ามาเพราะยังไม่มีความพร้อม จำนวน 35 คน ที่เหลือจำนวน 185 คน เดินทางผ่าน ตม.กัมพูชา ผ่านการคัดกรองจากด่านควบคุมโรคคลองลึก จนได้รับการตรวจลงตราวีซ่า 158 คน และถูกผลักดันกลับประเทศ จำนวน 27 คน เนื่องจากพบประวัติว่าแรงงานกลุ่มดังกล่าวเคยลักลอบเดินทางกลับประเทศต้นทางตามช่องทางธรรมชาติ

Advertisement

“ขอฝากถึงแรงงานทุกสัญชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศ ขอให้เคารพกฎหมายของประเทศไทย เพราะเป็นผลดีกับตัวของแรงงานเอง หากมีการตรวจสอบ พบเคยกระทำความผิดเช่นกรณีดังกล่าว ท่านก็จะเสียโอกาสในการเข้ามาทำงานในประเทศไทย” นายไพโรจน์ กล่าว

นายวิสุทธิ์ สาริกา ผู้จัดการฝ่ายบริหารบุคคล บ.พนัสโพลทรี่ กรุ๊ป จำกัด กล่าว่า รอคอยการนำเข้าแรงงาน เอ็มโอยูมา 2 ปี ตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวันนี้เราก็นำแรงงานเข้ามาได้ วันนี้ได้แรงงานกัมพูชาเข้ามาทำงานได้ และยังคาดหวังว่าจะมีแรงงานเมียนมาตามเข้ามาเพื่อช่วยขับเคลื่อนกิจการโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image