จิตแพทย์ยันเด็กร้องไห้เป็นเรื่องปกติ แนะ ร.ร.หักคะแนนต้องดูจุดประสงค์

จิตแพทย์ยันเด็กร้องไห้เป็นเรื่องปกติ แนะ ร.ร.หักคะแนนต้องดูจุดประสงค์

กรณีเพจเฟซบุ๊ก ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ โพสต์ประกาศโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการแจ้งข้อปฏิบัติ ประเมินพัฒนาการของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 อนุบาล 2 และอนุบาล 3 เพื่อเข้ารับการศึกษา โดยมีประกาศข้อปฏิบัติในการทดสอบนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 อนุบาล 2 และอนุบาล 3 จำนวนจำนวน 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.นักเรียนต้องเข้าทดสอบทุกฐาน 2.หากนักเรียนที่เข้าทดสอบร้องไห้ ให้หักคะแนนฐานที่ร้องไห้ฐานละ 3 คะแนน 3.ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าห้องสอบทุกกรณี ซึ่งที่ข้อระบุว่าหากร้องไห้ต้องถูกหักคะแนนฐานละ 3 คะแนน ชาวเน็ตและผู้ปกครองมีการวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามเด็กควรมีสิทธิ์ร้องไห้หรือไม่ นั้น

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับเด็กเล็กนั้น การร้องไห้ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติ ยิ่งในเด็กเล็กอายุ 2-3 ขวบ การควบคุมอารมณ์ต้องอาศัยพัฒนาการทางสังคม และวุฒิภาวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญ ทำความเข้าใจ เพื่อดูแลให้เด็กเกิดการพัฒนา ฝึกทักษะทางสังคม

“ซึ่งไม่ใช่เพียงการควบคุมอารมณ์เสียใจ แต่เป็นการแสดงออกทางอารมณ์อื่นๆ ด้วย เช่น ขว้าง ปา สิ่งของเมื่อโกรธ หรือร้องไห้ เมื่อเวลาเสียใจ หรือเวลากลัว เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องสนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ในการแสดงออกทางอารมณ์จะให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยเรื่องของวัยเช่นกัน คู่กับประสบการณ์และอื่นๆ เกี่ยวข้อง” พญ.อัมพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่โรงเรียนแห่งหนึ่งระบุกติกาการเข้าสอบของเด็กชั้นอนุบาล 1-3 ว่า หากเด็กร้องไห้จะมีการหักคะแนน และยังกำหนดว่าไม่ให้ผู้ปกครองเข้าร่วมในการสอบ พญ.อัมพร กล่าวว่า ส่วนนี้อาจจะต้องดูวัตถุประสงค์ของการตั้งกติกา เช่น หากเป็นการคัดเลือกเด็ก เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมอะไรบางอย่างเป็นพิเศษ ซึ่งผู้คัดเลือกอาจจะต้องวางเกณฑ์สำหรับเด็กที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ดีกว่า หรือมีพัฒนาการทางสังคมที่มากกว่า ในส่วนนี้ สามารถวางกติกาเพิ่มเติมได้ แต่หากนำไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่ใช่ ก็อาจจะผลส่งเสียกับเด็กได้

Advertisement

“แต่เวลาเราประเมินเด็ก ก็ไม่ใช่ว่าเด็กที่ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าจะมีแต้มการประเมินมากกว่าเด็กคนอื่น ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองคือ สร้างความสบายให้กับเด็ก ไม่สร้างความวิตกกังวลเพิ่ม โดยให้เด็กอยู่ใกล้คนที่เด็กไว้ใจ การที่เด็กอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เด็กก็จะเกิดความวิตกกังวลได้” พญ.อัมพร กล่าว

 

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image