4ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ขึ้นเวทีหมอต่ายไม่ตายฟรี! โชว์วิชั่นแก้ปมคนกรุงเดินถนนไม่ปลอดภัย

4ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ขึ้นเวทีหมอต่ายไม่ตายฟรี! โชว์วิชั่นแก้ปมคนกรุงเดินถนนไม่ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)  ภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุ จัดเวทีสาธารณะ หมอกระต่าย ต้อง (ไม่) ตายฟรี โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมการการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนนวุฒิสภา และอดีตประธานเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาด้านความปลอดภัยทางถนนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นประธานเปิดงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายสุรชัย กล่าวว่า อยู่กับปัญหานี้ติดต่อมากกว่า 10 ปี ด้วยข้อจำกัดของฝ่ายนิติบัญญัติ ทำได้เพียงติติง มีข้อเสนอแนะ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาประชุมมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ สถิติการเสียชีวิตบนท้องถนน มีจำนวน 2 หมื่นคนต่อปี โดยจำนวนนี้คนที่เสียชีวิตบนท้องถนน มี ร้อยละ 5 เป็นคนเดินเท้า หลังเกิดเหตุหมอกระต่ายเสียชีวิต ได้บรรจุเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง จึงเป็นที่มาของการขีดสีตีเส้น ติดตั้งสัญญาณไฟใหม่ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้เป็นเพียงเวทีเสวนา เท่านั้น อยากให้ข้อเสนอแนะ นำไปเป็นแนวทางขับเคลื่อนให้ทางม้าลาย เป็นทางที่ปลอดภัยสำหรับคนข้ามจริงๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุมาละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ด้าน นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธเมาไม่ขับ กล่าวว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และยังถูกจัดอันดับให้ประเทตที่มีถนนอันตรายที่สุดในโลก โดยเฉพาะพฤติกรรมขับขี่รถที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น ทั้งจากการเมาแล้วขับ การขับรถเร็ว การขับรถย้อนศร การใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ รวมไปถึงการไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ซึ่งจากสถิติพบว่ามีคนไทยตายบนท้องถนน 20,000 คนต่อปี แต่กลับกลายเป็นภัยเงียบบนท้องถนนที่ไม่ได้รับความใส่ใจ ทั้งจากผู้มีอำนาจ และจากประชาชนผู้ขับขี่รถ

Advertisement

“และเป็นที่น่าเสียใจ เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา สังคมไทยต้องสูญเสียแพทย์ผู้มีอนาคตไกล ซึ่งเกิดจากความมักง่ายของผู้ขับขี่รถซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษากฎหมาย แต่กลับละเมิดกฎหมายเสียเอง ขับขี่รถจักรยานยนต์ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล (หมอกระต่าย) ขณะเดินข้ามทางม้าลายเสียชีวิต จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องสิทธิในความปลอดภัยเมื่อต้องข้ามทางม้าลายขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังนั้น เพื่อร่วมรำลึกถึงหมอกระต่าย มูลนิธิเมาไม่ขับ จึงได้จัดเวทีสาธารณะหมอ
กระต่ายต้อง (ไม่) ตายฟรี พร้อมเชิญ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. 4 คน ได้แก่ 1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ 2.นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ 3.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครพรรคก้าวไกล และ 4.น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ แสดงวิสัยทัศน์ต่อการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยทางถนน โดยมูลนิธิเมาไม่ขับ ได้ทำการบันทึกคลิปวิดีโอว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 4 คนไว้ และจะทวงถามสัญญาที่ให้ไว้ในเวทีสาธารณะ ภายใน 90 วัน หลังเข้ารับตำแหน่ง” นพ.แท้จริง กล่าว

นอกจากนี้ นพ.แท้จริง กล่าวว่า มูลนิธิเมาไม่ขับ ยังได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอให้วันที่ 21 มกราคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่หมอกระต่าย เสียชีวิตจากการถูกรถจักรยานยนต์ชนขณะข้ามทางม้าลาย เป็นวันหมอกระต่าย หรือ วันความปลอดภัยทางถนนแห่งชาติ เพื่อรำลึกที่หมอกระต่ายจากไป และเชิญชวนคนไทย ร่วมกันเรียกร้องสิทธิในความปลอดภัยบนท้องถนน อันเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ต้องถูกปกป้อง นอกจากนี้ ขอให้มีการแก้ไขบทลงโทษผู้ขับขี่รถที่ชนคนข้ามทางม้าลาย ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยให้มีบทลงโทษฐานขับขี่รถ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น แทนการขับขี่รถด้วยความประมาท ขณะเดียวกันจะทำสัญลักษณ์เป็นทางกระต่าย (ทางม้าลาย) บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นจุดแรก และจะขยายไปทางม้าลายทั่วประเทศ

นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล บิดาของหมอกระต่าย กล่าวทั้งน้ำตาในฐานะพ่อและครอบครัว ว่า ไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น

Advertisement

“เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเรื่องสะเทือนขวัญของคนทั้งประเทศ เศร้าเสียใจเจ็บปวดรวดร้าวอย่างมาก หมอกระต่ายเป็นลูกสาวคนโต เลือกทางเดินของตัวเองไปเป็นจักษุแพทย์ ไปเรียนและกลับมาเป็นจักษุแพทย์อย่างเต็มตัว นับเป็นความสำเร็จที่สวยงาม หมอกระต่ายเหมือนดอกไม้บานในครอบครัว เหมือนต้นไม้ที่กำลังจะเติบโต เพื่อเป็นที่พึ่งพาของสาธารณะอีกมาก แต่มันก็หายวับไป” นพ.อนิรุทธ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ความจริงที่ปรากฎ ตำรวจขับขี่รถบิ๊กไบค์แบบบ้าระห่ำ โดยไม่สนใจว่าตรงนั้นเป็นทางม้าลาย ซึ่งควรจะเป็นที่ปลอดภัยสำหรับคนข้าม ดังนั้น การพิจารณาความผิดการขับรถชนคนตาย ไม่ควรพิจารณาเพียงแค่ความประมาทเท่านั้น เพราะโทษขับรถชนคนตาย ไม่ได้เกิดจากความประมาท แต่ควรจะเป็นโทษสูงสุด ทางข้ามทางม้าลาย ควรปลอดภัยที่สุดสำหรับคนข้าม ควรมีป้ายสัญลักษณ์ที่ชัดเจน ปุ่มสัญญาณไฟกดหยุดรถ และควรปลูกฝังวินัยการจราจรตั้งแต่เด็กด้วย

นพ.อนิรุทธ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ครอบครัวขาดหาย ไม่สามารถที่จะมีวันเติมเต็มได้ ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนรู้สึกหวาดกลัว เดินข้ามทางม้าลายไม่มั่นใจ อย่างไรก็ตาม การจัดเสวนาดังกล่าว อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อยากให้การสูญเสียครั้งนี้เป็นบทเรียน เพื่อทำให้สังคมดีขึ้น

ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. แสดงวิสัยทัศน์การแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยทางถนน คนละ 5 นาที

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า ในอนาคตหากเกิดอุบัติเหตุกรณีเดียวกับหมอกระต่าย จะเห็นทีมผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ไปตรวจสอบหาสาเหตุ โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมลงพื้นที่ด้วย และจะมีการสังคายนาทางม้าลายทั่วกรุงเทพมหานคร ให้ได้มาตรฐานสากล ภายใน 6 เดือน ไม่รอให้เกิดการสูญเสียแล้วค่อยแก้ไข นอกจากนี้ จะจำกัดความเร็ว บริเวณหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง และบริเวณชุมชน 40 กม.ชม. รวมทั้งติดตั้งปุ่ม SOS เพื่อให้โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเข้าถึงที่เกิดเหตุ ตลอดจนถ่ายภาพผู้กระทำผิด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

ขณะที่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ปรับปรุงลักษณะทางกายภาพทางม้าลาย กว่า 4,160 จุด โดยการขีดสีตีเส้นให้ชัดเจน ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างให้เพียงพอ เพิ่มสัญญาณไฟเตือนข้างหน้ามีทางม้าลาย ป้ายจำกัดความเร็ว พร้อมทั้งดูแลบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยให้เจ้าหน้าที่เทศกิจ เข้ามาช่วย รวมทั้งเป็นเจ้าภาพในการรณรงค์ให้วินรถจักรยานยนต์ รถสาธารณะ (แกร๊บ) กระตุ้นให้หยุดรถให้คนข้าม อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จะใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยใช้กล้อง AI จับภาพผู้กระทำผิด โดยจะใช้เวลา 1 ปี ดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้ง 4,160 จุด

ด้านนายวิโรจน์ กล่าวว่า ภายใน 6 เดือนจะปรับปรุงให้ทางม้าลายทั้งหมดมีความปลอดภัย มีโครงสร้างทางวิศวกรรมจราจรที่ถูกต้อง รวมทั้งติดตั้งสัญลักษณ์ต่างๆ นอกจากนี้ จะติดตั้งสัญญานไฟในการข้ามในจุดที่คนข้ามหนาเเน่น พร้อมทั้งเพิ่มงบประมาณด้วย ขณะเดียวกัน จะตรวจถนนให้อยู่ในสภาพปกติ และใช้ภาพจากกล้องเป็นหลักฐาน เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตลอดจนใส่ใจปัญหาเสมือนเป็นปัญหาครอบครัว

ส่วน น.ส.รสนา กล่าวว่า จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด รวมทั้งทำให้รถหยุดตรงทางข้ามม้าลาย โดยใช้คะเเนน เมื่อถึงเกณฑ์กำหนด จะถูกยึดใบขับขี่ พร้อมทั้งมีภาพถ่ายในระบบส่งเข้ามาให้กับส่วนกลางเพื่อดำเนินคดี อย่างไรก็ตามจะร่วมมือกับทุกกลุ่มในสังคมที่ใส่ใจในเรื่องความปลอดภัย เชื่อว่าภายใน 1 ปี จะทำในสิ่งที่ประชาชนชี้ให้เห็นปัญหาเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image