สธ.ย้ำ! ตัวเลขโควิดพลิกแตะหมื่นไม่น่ากังวล เผยวัคซีนครอบคลุม 7 กลุ่มโรค สูงถึง 105%

สธ.ย้ำ! ตัวเลขโควิดพลิกแตะหมื่นไม่น่ากังวล เผยวัคซีนครอบคลุม 7 กลุ่มโรค สูงถึง 105%

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค สธ. แถลงอัพเดตสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้น 2.9 แสนโดส สะสม 116.1 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 52.4 ล้านโดส ครอบคลุม ร้อยละ 75.4 ของประชากร เข็มที่ 2 จำนวน 48.7 ล้านโดส ครอบคลุม ร้อยละ 70.1 และเข็มที่ 3 อีก 14.9 ล้านโดส ครอบคลุม ร้อยละ 21.4 ทั้งนี้ จำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 4.9 ล้านราย จากเป้าหมาย 4.7 ล้านราย คิดเป็น ร้อยยละ 105.7 ส่วนผู้อายุมากกว่า 60 ปี ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 8.3 ล้านราย จากเป้าหมาย 12.7 ล้านราย คิดเป็น ร้อยละ 66

 

“ตัวเลขนี้มีความสำคัญ เนื่องจากไม่ใช่เปอร์เซ็นต์วัคซีนในภาพรวมเท่านั้นที่มีผลต่อการควบคุมโรค แต่กลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มที่เรามุ่งเน้นให้เข้าถึงวัคซีนมากที่สุด” นพ.เฉวตสรร กล่าว

Advertisement

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก พบว่า วันที่ 27 มกราคม 2565 เป็นวันที่ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อสูงสุดในระลอกสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งได้ผ่านมาแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตยกตัวขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้สูง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าเชื้อโอไมครอนไม่ได้มีความรุนแรง แต่หากติดเชื้อมาก ก็จะพบอัตราเสียชีวิตสูงขึ้นได้ ขณะที่ ประเทศแอฟริกาใต้ ผ่านพ้นจุดสูงสุดของการติดเชื้อไปตั้งแต่ก่อนปีใหม่ ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ก็เช่นกัน ซึ่งตอนนี้การติดเชื้อลดลง แต่การเสียชีวิตเพิ่มเล็กน้อยแต่ไม่เท่ากับตอนสายพันธุ์เดลต้า

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทย ข้อมูลการติดเชื้อเฉลี่ย 7 วัน พบว่าเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 มีการติดเชื้อสูงสุดของระลอกเดือนมกราคม 2565 อย่างไรก็ตาม วันนี้มีผู้ติดเชื้อใหม่ 9,909 ราย เสียชีวิต 22 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 516 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 105 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่คงตัวจาก 2 สัปดาห์ที่แล้ว แต่ขณะนี้กราฟการติดเชื้อมีการยกตัวสูงขึ้น

Advertisement

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า จำแนกกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,909 ราย พบว่า อายุ 30-49 ปี มีอัตราติดเชื้อสูงที่สุด ร้อยละ 32.9 ส่วนที่เรากังวลการติดเชื้อในเด็ก วันนี้พบอายุ 0-9 ปีเพียง ร้อยละ 10.3 ซึ่งปัจจัยเสี่ยงยังลักษณะเดิมคือ กิจกรรมที่พบปะกัน ร่วมงานสังสรรค์ที่เปิดหน้ากากอนามัย ทำให้เรายังพบคลัสเตอร์นี้อยู่ถึงร้อยละ 48 ส่วนผู้สัมผัส พบร้อยละ 47 การตรวจ ATK ร้อยละ 4 และ บุคลากรแพทย์สาธารณสุข ร้อยละ 0.6

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ตัวเลขติดเชื้อดูเหมือนจะขึ้นไปในเส้นสีเทา คือติดเชื้อสูงสุด แต่หลังจากมีมาตราการควบคุมโรค ทำให้เรารักษาระดับมาอยู่ในเส้นสีเขียวคือสถานการณ์ดีที่สุด สอดคล้องกับตัวเลขการเสียชีวิตที่เราร่วมมือกันรักษาระดับได้ต่ำกว่าเส้นสีเขียว

“ในวันนี้ที่พบผู้ติดเชื้อ 9.9 พันราย ใกล้ถึงหมื่นราย ซึ่งหลายคนอาจจะกังวล ในส่วนนี้ เราจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกคนด้วยมาตรการ VUCA ไปฉีดวัคซีนกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสียง 608 รักษาการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือเสมอ ตรวจ ATK และสถานประกอบการทำมาตรการ Covid-19 free settings” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิดอยู่ในช่วงขาขึ้น และจะคงอยู่ระยะหนึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อถึงจะค่อยๆ ลดลง ตามหลักการระบาดวิทยา โดยเปรียบเทียบการติดเชื้อในครอบครัว ระหว่างเดลต้ากับโอมิ ครอน พบว่า การระบาดเดลต้า โอกาสที่คนอื่นในครอบครัวจะติดเชื้อมี ร้อยละ 10-20 แต่หากเป็นโอมิครอน จะมีการติดเชื้อ ถึง ร้อยละ 40-50 ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อ ยังคงเป็นกลุ่ม 608 ดังนั้นควรมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะจะเห็นว่าการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราตายไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเท่ากับในอดีต เทรนทั่วโลกขณะนี้ไม่ได้คำนึงถึงตัวเลขติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น แต่ให้ความสนใจ เรื่องของอัตราการป่วยหนัก ปอดอักเสบ การใส่ท่อช่วยหายใจ และการเสียชีวิต หากตัวเลขตรงนี้มีการเปลี่ยนไปก็แสดงถึง การควบคุมโรคว่าทำได้หรือไม่ โดยขณะนี้จำนวนป่วยหนักอยู่ที่ 500 คน จากเดิม 5,000 คน และ จำนวนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 100 คนเศษ จากเดิม 1,300 คน และ จำนวนผู้เสียชีวิต วันนี้ 22 คน จากเดิม สูงสุด 300 คน ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้

นพ.โอภาส กล่าวว่า การติดเชื้อที่พบในขณะนี้มาจากคลัสเตอร์กลุ่มต่างๆ ทั้งจากการรับประทานอาหาร หรือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮล์ กิจกรรม ทั้งงานศพ งานบวช ดังนั้นก็ขอให้ระมัดระวัง และเคร่งครัด

“หากสถานการณ์การติดเชื้อคงที่ ไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา ก็เชื่อว่า ในปีนี้มีโอกาสเป็นโรคประจำถิ่น ทุกกิจกรรมต้องทำอย่างสมดุล และอยู่ร่วมกันได้ อย่างระมัดระวัง” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่ามีผู้เสนอให้นำตัวเลขการตรวจ ATK มารวมกับ RT-PCR นพ.โอภาส กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ระบบสาธารณสุขรองรับมากน้อยแค่ไหน อย่างที่ทราบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จากเดิมที่ติดเชื้อจะมีอาการหนักประมาณร้อยละ 10-20 ปัจจุบันเหลือ ร้อยละ 5 และหลายส่วนที่ติดเชื้อไม่มีอาการเลย ถ้าจะเอาตัวเลขจริงๆ ต้องนั่งตรวจคนไทยทุกวัน เพราะไม่มีอาการก็บอกไม่ได้ว่าคนไหนติดเชื้อ อย่างนี้ถือว่าจำเป็นหรือไม่ คำตอบคือไม่ได้จำเป็นที่จะต้องตรวจ ATK และ RT-PCR ทุกวัน

“เราดูภาพรวมอะไรที่เหมาะสมกับประเทศเรา และการใช้ชีวิตของคนไทยน่าจะเหมาะสมกว่า ตอนนี้ทั่วโลกให้ความสนใจผู้ติดเชื้ออาการหนักและเสียชีวิตมากกว่าแล้ว” นพ. โอภาส กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image