กทม.จัดระเบียบคนเร่ร่อนในกรุง ปรับปรุงจุดแจกอาหาร คัดกรองประวัติเร่งช่วยทั้งระบบ

กทม.จัดระเบียบคนเร่ร่อนในกรุง ปรับปรุงจุดแจกอาหาร คัดกรองประวัติเร่งช่วยทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการจัดระเบียบผู้ที่มาบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือ ว่า กทม.โดยสำนักพัฒนาสังคม ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สำนักงานเขต สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา ได้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ ทั้งกับประชาชนที่มาบริจาคสิ่งของ อาหาร เงิน ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเหมาะสมกับคนเร่ร่อนตามสภาพปัญหาแต่ละราย โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่เขตพระนคร และพื้นที่อื่น เช่น เขตปทุมวัน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตบางรัก เขตสาทร เขตยานนาวา ฯลฯ โดยเฉพาะย่านหัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษม และคลองช่องนนทรี และดำเนินการตั้งจุดแจกอาหารบริเวณใต้เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า

นายเฉลิมพล กล่าวว่า สำหรับด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สำรวจ คัดกรอง ทำประวัติและให้คำปรึกษาแนะนำ สร้างความเข้าใจให้กับคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งที่เข้ามาพักอาศัยหรือใช้เป็นที่หลับนอนในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านบริการสวัสดิการทางสังคม เป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพเพื่อฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แจกหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล และดูแลสุขภาพอื่น ตลอดจนจัดตั้งจุดประสานงานเชิงรุกเพื่อประสานความช่วยเหลือคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะในพื้นที่เขตพระนคร จำนวน 2 จุด ดังนี้

1.บริเวณหน้าธนาคารออมสิน สาขาถนนราชดำเนิน ปฏิบัติงานในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ และ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 14.00 น. – 18.00 น.

Advertisement

2.บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ถนนราชดำเนินกลาง ปฏิบัติงานในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 14.00 น. – 18.00 น.

“จากการดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติคนไร้ที่พึ่ง โดยสำนักงานเขตพระนคร เพื่อสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของคนไร้ที่พึ่ง อีกทั้งเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนการแก้ไขปัญหา พัฒนาและจัดระเบียบในพื้นที่ จากการสำรวจข้อมูลถึง วันที่ 31 มกราคม 2565 พบมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 170 ราย จึงได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในการส่งกลับภูมิลำเนา จำนวน 5 ราย ประสานส่งต่อเด็กเล็ก (แม่เป็นคนไร้ที่พึ่ง) เข้าพักอาศัยในบ้านราชวิถี เพื่อส่งต่อบ้านเด็กอ่อน จ.ปทุมธานี จำนวน 1 ราย และนำส่งคนไร้ที่พึ่งเข้ารับการรักษา จำนวน 2 ราย” นายเฉลิมพล กล่าว

Advertisement

รองปลัด กทม.กล่าวว่า ในด้านที่พักอาศัย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. ได้จัดสถานที่พักอาศัยชั่วคราว เช่น ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร บ้านมิตรไมตรี 4 แห่ง ได้แก่ บ้านมิตรไมตรีห้วยขวาง บ้านมิตรไมตรีอ่อนนุช บ้านมิตรไมตรีธนบุรี และบ้านมิตรไมตรีสายไหม เพื่อรองรับคนเร่ร่อนที่ประสงค์เข้ารับบริการในสถานสงเคราะห์ที่จัดไว้ ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญคือ คนเร่ร่อนส่วนใหญ่ชอบชีวิตอิสระ ในรายที่ต้องการฝึกอาชีพ กทม.จะสนับสนุนการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ผู้สมัครใจ ทั้งคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่ง คนยากจน ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มว่างงาน หรือต้องการเปลี่ยนอาชีพใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว รวมทั้งจัดทำโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพสู่ชุมชนเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด – 19 และประชาชนในพื้นที่ 50 เขต

“สำหรับการป้องกันปัญหาการออกมาเร่ร่อน สำนักงานเขตพื้นที่ ได้ดำเนินการร่วมกับ กรรมการชุมชน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ดูแลครอบครัวที่ประสบปัญหา สนับสนุนช่วยเหลือทุนประกอบอาชีพ การฝึกอาชีพ และการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เพื่อลดปัญหาครอบครัวอันเป็นต้นเหตุสำคัญของความเครียด สุขภาพกายและจิต และนำไปสู่การออกมาจากครอบครัว และกลายเป็นคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งในที่สุด” นายเฉลิมพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image