คาดสิ้น ก.พ.โควิดไทยถึงจุดพีค อาจเห็นวันละ 3 หมื่นราย สธ.ชี้คุมไม่ได้อดจัดสงกรานต์

คาดสิ้น ก.พ.โควิดไทยถึงจุดพีค อาจเห็นวันละ 3 หมื่นราย สธ.ชี้คุมไม่ได้อดจัดสงกรานต์

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รายใหม่ เพิ่งสูงขึ้นโดยวันนี้ยอด 13,182 ราย และผลตรวจ ATK เข้าข่ายติดเชื้ออีก 5,928 ราย ว่า การประเมินสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก จะเห็นว่าต่างประเทศทางยุโรป อเมริกา อยู่ในช่วงขาลงของการระบาด พบติดเชื้อลดลง แต่ขณะที่ทวีปเอเชียและประเทศไทย อยู่ในช่วงขาขึ้น จึงพบตัวเลขสูงขึ้นได้

“ปัจจัยหลักของไทย เกิดจากเราเปิดกิจกรรมกันมากขึ้น กิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้นมาก จะเหลือเพียงผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ยังไม่ได้เปิดให้บริการ แต่ก็สามารถเปิดในรูปแบบร้านอาหารได้ ฉะนั้น ตอนนี้เราใช้ชีวิตเหมือนปกติแล้ว การติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ไม่อยากให้กังวลเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อ อยากให้ดูจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเป็นสำคัญ” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า โดยข้อมูลล่าสุด มีผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระหว่างรักษาทั้งที่โรงพยาบาล (รพ.) และรักษาที่บ้าน (Home Isolation) รวมประมาณ 90,000 ราย ในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งอยู่ใน รพ. และพบว่า ร้อยละ 90 ของคนที่อยู่ใน รพ.ไม่มีอาการหรือมีเล็กน้อยมาก ส่วนผู้ที่อาการรุนแรงต้องใส่ช่วยหายใจ มีประมาณ 111 ราย คิดเป็นอัตรา ร้อยละ 0.1 ของผู้ติดเชื้อ ซึ่งเราพยายามประคองให้ไม่เกินวันละ 200 รายจากที่เราเคยพบสูงถึง 1,300 ราย ในช่วงการระบาดของเชื้อเดลต้า ทำให้ไม่มีเตียงรอบรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ เลย เราไม่อยากให้เกิดภาพนั้น

“ขณะนี้ค่อนข้างสบายใจได้กว่ารอบเดลต้า ที่ติดเชื้อสูงและมีตัวเลขป่วยหนัก เสียชีวิตตามมา แต่รอบนี้ติดเชื้อสูงแต่อาการหนักยังน้อยอยู่ ทั้งนี้ อีก 2-3 สัปดาห์จะมีตัวเลขป่วยหนัก เสียชีวิตเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะคาดว่าปลายเดือนนี้ ถึงต้นเดือนหน้าจะถึงจุดพีคของการระบาด ตามที่เราคาดการณ์ไว้ในเส้นฉากทัศน์ที่เงื่อนไขว่า หากไม่มีมาตรการอะไรเลย ก็คิดว่าจะถึง 3 หมื่นรายใหม่ต่อวัน และเราจะอยู่ในตัวเลขนั้นนานแค่ไหน ก็อยู่กับมาตรการที่เราจะใช้ควบคุมสถานการณ์ ถ้าประชาชนช่วยกันป้องกันมันก็จะไม่ยาว” นพ.จักรรัฐ กล่าว

Advertisement

ผู้อำนวยการกองระบาด กล่าวต่อไปว่า ไม่อยากเห็นตัวเลขสูงถึงที่คาดการณ์ไว้ แต่วันนี้ก็เห็นตัวเลขที่ 1.3 หมื่นราย แล้ว ดังนั้น เราต้องช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อ เพราะขณะนี้เกิดติดเชื้อในครอบครับเป็นหลัก ลดการรวมตัวของคน เช่น รับประทานอาหาร นักเรียนเล่นกีฬารวมกัน และลดความเสี่ยงในที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม หากจะลดอัตราการป่วยหนัก เราต้องลดความเสี่ยงในการนำเชื้อเข้าไปติดในกลุ่มเสี่ยง 608 และขอให้กลุ่มนี้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ตามกำหนด ย้ำว่าตรงนี้มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะหากเราติดเชื้อมากขึ้น แต่ตัวเลขป่วยหนักไม่เพิ่มขึ้น การเสียชีวิตไม่สูงก็จะไม่น่ากังวล เราก็สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ต่อไปได้

“ประเด็นคือ หากติดเชื้อถึงพีคเยอะๆ แล้วคนยังตกใจอยู่ สงกรานต์ปีนี้ เราอาจไม่ได้จัดเทศกาล ฉะนั้น เราต้องช่วยกันสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่า ติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรงมีความสำคัญมาก เราต้องเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นรองรับกลุ่มเสี่ยง” นพ.จักรรัฐ กล่าวและว่า สิ่งสำคัญที่ต้องฝากถึงทุกคน คือ 1.การปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง เลี่ยงเข้าสถานที่แออัด หมั่นล้างมือ ช่วงนี้ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกับคนที่มีความเสี่ยงสูงแม้จะรู้จักกันก็ตาม 2.หากบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็ก ก็ขอให้คนอื่นในบ้าน เว้นระยะห่าง เลี่ยงรับประทานอาหารร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัย และ 3.เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ก็รับเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ผู้ที่รับซิโนแวค+แอสตร้าฯ ก็รับแอสตร้าฯ และผู้ที่รับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ก็รับไฟเซอร์ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า แม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยอาการหนักจะไม่เพิ่มขึ้นตาม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image