เด็ก 5-11 ปี ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 6.6 หมื่นราย ยังไม่พบความผิดปกติ

เด็ก 5-11 ปี ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 6.6 หมื่นราย ยังไม่พบความผิดปกติ

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วิชาญ ปานวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์การณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 ในเด็ก ว่า ได้แบ่งช่วงอายุ 0-2 ปี 3-4 ปี 5-11 ปี และ 12-17 ปี จากนั้นได้แบ่งระลอกของการติดเชื้อเป็น 4 ระลอก โดยระลอกที่ 1 เริ่มเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2563 ระลอกที่ 2 เริ่ม วันที่ 1 ธันวาคม 2563 -วันที่ 31 มีนาคม 2564 ระลอกที่ 3 เริ่ม วันที่ 1 เมษายน – วันที่ 31 ธันวาคม 2564 และระลอกที่ 4 เริ่มวันที่ 1 มกราคม – วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 โดยพบการติดเชื้อในผู้ป่วยเด็กกลุ่ม 5-11 ปี ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง จากสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และโอมิครอน แม้การติดเชื้อในเด็กจะมีอาการค่อนข้างน้อย แต่ก็สามารถพบการเกิดภาวะมิสซี (MIS-C) ซึ่งเป็นภาวะของการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ ที่เกิดตามหลังจากการติดเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ทั้งนี้ ควรมีการเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และเปิดการเรียนการสอนได้อย่างปลอดภัย

นพ.วิชาญ กล่าวว่า ในส่วนของความก้าวหน้าของแผนการจัดการวัคซีน สธ.ได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) โดยมีวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ฉีดในเด็กได้ ทั้งหมด 4 ประเภท คือ วัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี โดยฉีดทั้งหมด 2 เข็ม เว้นระยะห่างเข็ม 1 และ 2 เป็นเวลา 8 สัปดาห์ และไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง) สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม เว้นระยะห่างเข็ม 1 และ 2 เป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีซิโนแวค ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม เว้นระยะห่างเข็ม 1 และ 2 เป็นเวลา 4 สัปดาห์ และซิโนฟาร์ม ที่สามารถฉีดให้แก่เด็กอายุ 6-17 ปี

Advertisement

“นอกจากนี้ ยังมีการเห็นชอบเรื่องการดำเนินการฉีดให้เด็กที่มีโรคประจำตัวก่อน และไล่ฉีดไปที่เด็กโต ตามลำดับไป และเริ่มฉีดเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ผลการดำเนินการฉีดจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5-11 ปี เป็นจำนวน 66,165 ราย จากจำนวนทั้งหมด 5.1 ล้านคน และยังไม่ได้รับการรายงานความผิดปกติหลังฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนที่ได้ผ่านการพิจารณาได้รับการพิจารณาจากหลายๆ ภาคส่วน อย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ” นพ.วิชาญ กล่าว

นพ.วิชาญ กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน ข้อมูลในประเทศไทย พบว่า จากการฉีดวัคซีนทั้งหมด ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 117,094,785 โดส พบมีอาการแพ้รุนแรงกับวัคซีนซิโนแวคที่มากกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ ส่วนการพบภาวะหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจะพบในไฟเซอร์มากที่สุด และการพบภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ในแอสตร้าเซนเนก้า

นพ.วิชาญ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมีคำแนะนำการฉีดสูตรไขว์ซิโนแวค+ไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี เพื่อเป็นทางเลือกได้ ทั้งนี้ มีการพิจารณาถึงข้อมูลการศึกษาโดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการศึกษาการระดับภูมิคุ้มกันของเด็กวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี ที่ฉีดสูตรไขว้ พบภูมิคุ้มกันภายหลังฉีดเข็มสองขึ้นเทียบเคียบกับการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะอนุกรรมการฯ ตัดสินใจแนะนำการฉีดสูตรไขว์ในเด็ก 12-17 ปี แต่เด็กเล็ก 6-11 ปี ยังต้องรอนำข้อมูลเข้าพิจารณาอีกครั้ง กรณีผู้ปกครองยังลังเลให้บุตรหลานฉีดหรือไม่ฉีดนั้น จากข้อมูลพบอัตราป่วยตายจากโควิด-19 ในกลุ่มเด็กอยู่ที่สัดส่วน 2 ในหมื่นราย แต่ถ้าฉีดวัคซีนอัตราตายลดลงอย่างมากเป็นพันเท่าตัว ดังนั้น การฉีดวัคซีนมีประโยชน์ป้องกันการป่วยตายในเด็กได้ดี

Advertisement

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จำนวนเคส หรือผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นนั้น เมื่อแบ่งเป็นช่วงอายุ ส่วนใหญ่จะเจอผู้ติดเชื้อในกลุ่มวัยทำงาน สูงสุด คือ 20-29 ปี ตามด้วย 30-39 ปี และ 40-49 ปี ส่วนนี้คือ วัยทำงาน แต่ที่เพิ่มขึ้นมาในช่วง 2 สัปดาห์ เป็นกลุ่มเด็ก 0-9 ปี และวัยรุ่น 10-19 ปี สูงขึ้น แต่ถ้าดูในอัตราการป่วยตาย กราฟจะค่อนข้างตรงกันข้ามกัน โดยจะเป็นผู้ที่อายุ 70 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ และ 60-69 ปี ก็สูงเช่นกัน ดังนั้น หากติดเชื้อแล้วให้เว้นระยะห่าง จากปู่ ย่า ตา ยาย เนื่องจากอาจจะมีการติดเชื้อและมีอาการรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ส่วนที่ว่าเหตุใดเด็กถึงติดเชื้อมากขึ้นนั้น ได้แบ่งช่วงอายุเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 0-4 ปี 5-9 ปี 10-14 ปี และ 15-19 ปี จะพบว่า ในกลุ่มเด็กประถม ถึงมัธยมต้น จะมีการติดเชื้อที่โรงเรียนสูง ส่วนเด็กเล็กก็จะติดเชื้อจากคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ ไปติดเชื้อมาและนำมาติดลูกอีกที ในขณะที่วัยรุ่นเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อภายนอก และจากในพื้นที่ชุมชน แม้ว่าจะติดเชื้อได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image