คนไทยก้าวข้ามโควิด เครียดน้อยลง กรมสุขภาพจิตผุดช่องให้ประเมินตัวเอง

คนไทยก้าวข้ามโควิด เครียดน้อยลง กรมสุขภาพจิตผุดช่องให้ประเมินตัวเอง

วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2565) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือและส่งเสริมสุขภาพจิตของคนไทยทุกคนในสังคม และสามารถปรับรูปแบบการดูแลสุขภาพจิตของคนไทยในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้ประชากรทั่วโลกต่างประสบปัญหาความเครียด โดยการสำรวจความเครียดในระดับโลกของ The World Stress Index พบว่า ในปี 2021-2022 ประเทศในยุโรปมีระดับความเครียดจะอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 50 – 60 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าในสถานการณ์โควิด-19

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ก็มีการวัดระดับอารมณ์ผ่านทาง www.วัดใจ.com โดยผลในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ถือเป็นช่วงที่ประชาชนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติ โดยมีภาวะเครียดสูง ร้อยละ 45.5 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 51.5 เสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 30.6 และมีภาวะหมดไฟ ร้อยละ 17.6 และเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งผลจากการประเมินในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 พบภาวะเครียดสูง ร้อยละ 6.04 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 7.31 เสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 4.09 และมีภาวะหมดไฟ ร้อยละ 4.4 แสดงให้เห็นว่า แม้จะอยู่ภาวะที่มีความเครียดและความเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิต แต่คนไทยยังสามารถที่จะรับมือและสร้างเกราะคุ้มกันให้ตนเองเพื่อก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้” พญ.อัมพร กล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า การสำรวจด้านสุขภาพจิตนั้น มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประชาชนสามารถวัดใจตัวเองได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตวางแผนจะส่งเสริมการวัดใจให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบการดูแลพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ร่วมกับระบบสามหมอ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คอยสนับสนุนการวัดใจตัวเองเป็นระยะ ก็จะทำให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ประชาชนสามารถ “วัดใจ” ตัวเองได้ ผ่านช่องทาง https://checkin.dmh.go.th ซึ่งจะมีการประเมินผลวัดใจ มีคำแนะนำการดูแลที่เหมาะสมเบื้องต้น และสามารถให้บุคลากรกรมสุขภาพจิตติดต่อกลับได้เพื่อดูแลต่อเนื่องระยะยาว

“ที่ผ่านมา เมื่อกรมสุขภาพจิตทำการสำรวจแล้ว จึงสามารถให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น การจัดการความเครียด/อารมณ์ สุขภาพจิตศึกษา การให้คำปรึกษารายบุคคล/ครอบครัว การส่งต่อพบแพทย์รักษา รวมไปถึงการประสานแหล่งสนับสนุนทางสังคมอื่นๆ ร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมีการประสานเครือข่ายและองค์กรต่างๆ เช่น สถานประกอบการ สถานศึกษา และชุมชนในการจัดให้มีระบบการดูแลจิตใจให้ทั่วถึง” พญ.อัมพร กล่าวและว่า ขอให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการประเมินสุขภาพจิตตัวเองให้เป็นกิจวัตรหนึ่งในแต่ละวัน จะนำเรื่องสุขภาพจิตไปสู่ประชาชนทุกคน ประสานความร่วมมือผ่านกลไกสามหมอ ขอช่วยวัดใจประชาชน รวมถึงทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลช่วยกันวัดใจประชาชนและตนเองด้วย หากพบว่ารู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ หรือมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือทาง line @1323forthai ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image