รมว.สุชาติ เตือนแรงงานระวัง! สาย-นายหน้าเถื่อน ยันวีซ่าการเกษตรออสเตรเลียยังไม่คลอด

รมว.สุชาติ เตือนแรงงานระวัง! สาย-นายหน้าเถื่อน ยันวีซ่าการเกษตรออสเตรเลียยังไม่คลอด

วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2565) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดย กรมการจัดหางาน (กกจ.) และทางการออสเตรเลีย มีการหารือในประเด็นการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการพิจารณา (ร่าง) บันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ในการสนับสนุนให้ประชาชนไทยเข้าร่วมโครงการวีซ่าแรงงานเกษตรออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการ และยังไม่ได้ข้อสรุป

“เพราะออสเตรเลียต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติสูง ยกตัวอย่างเงื่อนไขข้อหนึ่งที่ทางการออสเตรเลียกำหนดให้แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานภาคเกษตรที่ออสเตรเลียต้องมี คือ ผลทดสอบ IELTS ที่มีคะแนน ระดับ 4.5 ขึ้นไป ทำให้คนไทยมีโอกาสไปทำงานน้อย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างต่อรองลดระดับความรู้ภาษาอังกฤษ และหารือเงื่อนไขอื่นๆ” นายสุชาติ กล่าวและว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ห่วงใยแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานเกษตรออสเตรเลีย หลังทราบเรื่องสายนายหน้าเถื่อนระบาด ชวนคนทำงานออสเตรเลีย โดยอ้างว่าเปิดให้ทำวีซ่าเกษตร ยื่นวีซ่าและจ่ายค่าดำเนินการก่อน โดยนำรูปการประชุมของอธิบดี กกจ.ของไทยกับรองอธิบดีกรมการเกษตร ออสเตรเลีย มาสร้างความน่าเชื่อถือว่าหารือเพื่ออนุมัติวีซ่าเกษตร ซึ่งได้สั่งการกกจ.ออกประกาศย้ำเตือนว่าในขณะนี้ยังไม่มีการออกวีซ่าทางการเกษตรของออสเตรเลียให้แก่ผู้ใด รวมทั้งขอให้ใช้ความระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อการโฆษณาจากองค์กรหรือบุคคลใดที่อ้างว่าสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่านี้ได้

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดี กกจ. กล่าวว่า กกจ.ย้ำเตือนประชาชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจไปทำงานเกษตรในออสเตรเลียให้ทราบว่า ขณะนี้ กกจ.อยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลออสเตรเลียเกี่ยวกับรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ของโครงการวีซ่าแรงงานเกษตรออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อการเจรจามีข้อยุติแล้ว กกจ.จะมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับทราบทั่วกัน สำหรับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานเกษตรในออสเตรเลียนั้น สามารถดำเนินการได้ตามวิธีการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 5 วิธี ได้แก่ 1.กกจ.เป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ และ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง

“กกจ.ได้มีหนังสือแจ้งให้ภาคเอกชนเตรียมความพร้อมเบื้องต้น สำหรับการดำเนินการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศโดยภาคเอกชนจะต้องได้รับการอนุญาตให้รับสมัครงานโดย กกจ. และประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานผ่านเว็บไซต์ www.doe.go.th ด้วย” นายไพโรจน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image