สธ.ยันปลดโควิดพ้นยูเซ็ป แต่ยังรักษาฟรีทุกอย่างตามสิทธิ ขอเตียงให้โรคอื่น

สธ.ยันปลดโควิดพ้นยูเซ็ป แต่ยังรักษาฟรีทุกอย่างตามสิทธิ ขอเตียงให้โรคอื่น

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. แถลงชี้แจงแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ตามสิทธิการรักษาของประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจก่อนจะมีการประกาศปลดโควิด-19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤต หรือยูเซ็ป (UCEP) ว่าสำหรับข้อมูลเชื้อโรควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้ามากกว่า 7 เท่าตัว โดยกว่าร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการหรือมีน้อย ผู้เสียชีวิตน้อยกว่าปีที่แล้ว 10 เท่าตัว

“เรามีข้อมูลชัดเจนในการควบคุมและรักษาผู้ป่วย ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจกับระบบยูเซ็ปตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่มีอาการวิกฤตจริงๆ ให้สามารถรักษาได้ทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ย้ำว่า ยูเซ็ปเป็นกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิใช้ได้ตามปกติทุกอย่าง เพียงแต่ว่า หากเข้าสู่การรักษาระบบปกติแล้ว เมื่อติดโควิด-19 ก็ขอให้ไปรักษาตามสิทธิของแต่ละคนตามปกติ” นพ.ธงชัยกล่าว

รองปลัด สธ.กล่าวว่า สำหรับอาการเบื้องต้นที่เข้าข่ายวิกฤต คือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว อาการช็อก หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงมาก จนมีอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน แขนขาอ่อนแรง เลือดออกในสมอง หรืออื่นๆ ที่จะทำให้เสียชีวิต ทุพพลภาพ เดิมทีไปโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน ต้องเรียกเก็บค่ารักษา แต่ปัจจุบันมียูเซ็ป หากวิกฤตสามารถรักษาได้ใน 72 ชั่วโมง ส่วนโควิด-19 เมื่อ 2 ปีก่อน ที่มีระบาดทั่วโลก ความเข้าใจโรคยังน้อย ประกอบกับผู้ป่วยเพิ่มมาก เราจึงนำยูเซ็ปมาใช้นำผู้ป่วยเข้ารักษาใน รพ. ให้มากที่สุดทั้งมีและไม่มีอาการ ระยะแรกใช้ รพ.ของรัฐทั้งหมด เมื่อเต็มเราก็ให้ รพ.เอกชนช่วยผ่านระบบยูเซ็ปและก็มีการสร้าง รพ.สนามขึ้น

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรามีความรู้ความเข้าใจโรค มีระบบรักษาที่บ้านและในชุมชน (Home and Community Isolation) สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีหรือมีอาการน้อย โดยสามารถใช้ระบบปกติตามสิทธิรักษาของแต่ละคน เพื่อให้เราสำรองเตียงในระบบยูเซ็ปไว้ให้ผู้ป่วยที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องเอาคนไข้ทุกคนมาอยู่ใน รพ. เพราะจะไม่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยอื่นๆ (Non Covid-19) เช่น เบาหวาน ความดัน โรคที่มีภาวะแทรกซ้อน เพราะผู้ป่วยโควิด-19 เพียง 1 ราย เข้าไปอยู่ เราต้องปิดทั้งแผนก ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคอื่นได้” นพ.ธงชัยกล่าว

ทั้งนี้ นพ.ธงชัยกล่าวว่า เรามีข้อมูลว่าผู้ติดเชื้อสามารถอยู่บ้านได้ โดยแทบจะไม่มีติดต่อให้ผู้อื่นเลย ส่วนใหญ่จะติดกันก่อนที่จะรู้ตัวว่าติดเชื้อ ดังนั้น การตรวจ ATK ที่บ้านจึงสำคัญที่ทำให้รู้เร็วและกักตัวเอง ไม่ให้แพร่ให้คนอื่น เราก็จะนำเข้าระบบบริการปกติ

“ไม่ใช่ว่าวันนี้ไป รพ.เอกชน แล้วขอตรวจได้ผลบวก แล้วขอนอนเลยที่ รพ. จะไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เพราะเราขอสำรองเตียงไว้ให้ผู้ป่วยวิกฤตจริงๆ สำหรับผู้ไม่มีอาการให้รักษาแบบ HI/CI ได้” นพ.ธงชัยกล่าว และว่า ส่วนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดวิกฤต 3 หมื่นกว่าเตียง เตียงสีเขียว 1.3 แสนเตียง ที่สามารถขยายออกมาดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงได้อีกด้วย

Advertisement

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าเมื่อติดโควิด-19 แล้ว ประชาชนนิยมเข้ารักษาใน รพ.บางแห่งมาก ทำให้ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคอื่นได้ ต้องชะลอการผ่าตัดไป ประกอบกับขณะนี้ประชาชนเข้าใจการดูแลตัวเองแล้ว

“ดังนั้น ในการประชุมอนุกรรมการการรักษาพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 เห็นตรงกันว่า ควรปรับโควิด-19 ให้รักษาตามสิทธิ เช่น บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการรักษาพยาบาลราชการ และยังได้รับการรักษาฟรี ซึ่งเห็นตรงกันกับที่ประชุมอีโอซี สธ. ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบรักษาโรคอื่นเกิดประสิทธิภาพ พร้อมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้พิจารณากรอบเวลาที่เหมาะสม” นพ.ธเรศกล่าว

นพ.ธเรศกล่าวว่า ได้ประชุมเตรียมความพร้อมของกองทุนสุขภาพ 4 แห่ง เพื่อปรึกษาแนวทางรักษา ดังนี้ 1.กรมบัญชีกลาง เข้ารักษา รพ.รัฐทุกแห่ง เบิกสวัสดิการราชการ 2.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บัตรทองมีสิทธิรักษา รพ.เครือข่ายทุกที่ เช่น สิทธิอยู่ต่างจังหวัดแต่มาทำงานกรุงเทพมหานคร ก็รักษาได้ ไม่จำเป็นต้องกลับจังหวัด 3.ประกันสังคม รอการเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการแพทย์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการรักษา รพ.ในเครือข่ายประกันสังคมได้ และ 4.กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ต่างด้าวก็รักษาตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ ส่วนต่างด้าวไร้สิทธิหรือมีปัญหาสถานะ ก็เตรียม รพ.ของ รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ รพ.รัฐทุกแห่งไว้

“อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อยังรักษาในระบบ HI/CI ได้ตามปกติ เมื่อผู้ที่มีผลบวกแล้ว ขอให้สถานพยาบาลแจ้งผู้ติดเชื้อ ติดต่อเข้าระบบโอนถ่ายไปตามสิทธินั้นๆ ดังนั้น ทุกเครือข่ายต้องทำ HI ของตัวเอง ประชาชนติดต่อได้จากสายด่วน คือ 1.บัตรทอง สายด่วน 1330 2.ประกันสังคม สายด่วน 1506 3.การเบิกจ่ายตรง โทร 0-2270-6400 4.ผู้เป็นต่างด้าว โทร ต่างด้าว 0-2590-1578 และ 5.กรณีฉุกเฉิน สายด่วน 1669 ทั้งนี้ ระหว่างนี้ขอให้ทุกคนตรวจสอบว่าอยู่สิทธิใด โดยทั้ง 4 กองทุน จะเตรียมการรองรับกรณีผู้ติดเชื้อติดต่อไปไม่ตรงกับสิทธิของตัวเอง ก็ขอให้ รพ.ทั้งเอกชน และ รพ.ที่ไม่ใช่คู่สัญญาตามสิทธิ อธิบายให้คนไข้ติดต่อไปที่ รพ.เครือข่ายตามสิทธิ หรือที่สายด่วน 1330” นพ.ธเรศกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับระบบการรักษาตามสิทธิจะกระทบกับการดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นหลักหมื่นขณะนี้หรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า การรักษาตามสิทธิจะเป็นผลดีด้วยซ้ำ เพราะเป็นการกระจายผู้ป่วยเข้าสถานพยาบาล ไม่กระจุกตัว ทุกวันนี้ผู้ป่วยร้อยละ 60 ไม่มีอาการเลย อีกร้อยละ 20 มีอาการน้อย ไข้ ไอ เจ็บคอ ซึ่งไม่ต้องเข้ารักษาใน รพ. อย่าให้ตัวเลขมาหลอกเรา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image