เทศกิจ กทม.กวดขันจอด/ขับขี่บนทางเท้า ฝ่าฝืนปรับขั้นต่ำ 2 พัน เฉี่ยวชน 5 พัน

เทศกิจ กทม.กวดขันจอด/ขับขี่บนทางเท้า ฝ่าฝืนปรับขั้นต่ำ 2 พัน เฉี่ยวชน 5 พัน

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต ครั้งที่ 4/2565 เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่เทศกิจ โดยมี นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต ร่วมประชุม ที่ สำนักเทศกิจ

นายสกลธี กล่าวว่า ในที่ประชุมได้พิจารณาการดำเนินการโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้า ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2561- วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 40,480 ราย ดำเนินการว่ากล่าวตักเตือน 3,830 ราย ดำเนินคดี 34,847 ราย อยู่ระหว่างดำเนินคดี 1,803 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 44,238,000 บาท

“โดยระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2565 เทศกิจสำนักงานเขตสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 34 ราย แยกเป็นประชาชนทั่วไป 26 ราย วินจักรยานยนต์ 5 ผู้ให้บริการแกร็บ 3 ราย ราย ปรับเป็นเงิน 38,500 บาท ส่วนการดำเนินการกรณีป้ายโฆษณาที่ติดตั้งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2561- วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เทศกิจสำนักงานเขต จัดเก็บได้ 229,425 ป้าย แจ้งความดำเนินคดี 51 ราย จับ-ปรับ 5,603 คดี ปรับเป็นเงิน 15,564,100 บาท โดยระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2565 เทศกิจสำนักงานเขตจัดเก็บได้ 659 ป้าย จับปรับ 21 คดี ปรับเป็นเงิน 50,500 บาท ด้านการดำเนินการเกี่ยวกับซากรถยนต์ จากการสำรวจซากยานยนต์ที่ถูกจอดทิ้งไว้ในที่สาธารณะมีจำนวน ​1,144 คัน เคลื่อนย้ายแล้ว​ 1,139 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย 1,004 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 135 คัน คงเหลือซากยานยนต์ที่รอเคลื่อนย้าย 5 คัน” นายสกลธี กล่าว

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันการจอดรถหรือขับขี่บนทางเท้าอย่างต่อเนื่อง หากพบฝ่าฝืนให้ทำการเปรียบเทียบปรับขั้นต่ำ 2,000 บาท ทุกราย หากมีเหตุร้ายแรง เฉี่ยวชนผู้สัญจรบนทางเท้า ให้เปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุด 5,000 บาท แต่หากมีเหตุต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้แจ้งความดำเนินคดีเพื่อเอาผิดผู้กระทำความผิด ส่วนนโยบายการจัดระเบียบเมืองด้านอื่นๆ ได้กำชับให้เข้มงวดกวดขันอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ป้ายโฆษณาที่ติดตั้งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต การเคลื่อนย้ายซากรถ รวมถึงความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยด้านอื่นๆ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานครต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image