โอมิครอนพันธุ์ย่อย BA.2 แพร่ในไทยแล้ว 18.5% สธ.คาดระบาดเร็วขึ้น

โอมิครอนพันธุ์ย่อย BA.2 แพร่ในไทยแล้ว 18.5% สธ.คาดระบาดเร็วขึ้น

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้สุ่มตรวจสายพันธุ์กว่า 2,000 ตัวอย่าง พบว่าเป็นเชื้อโอมิครอนเกือบทั้งหมด หรือ ร้อยละ 97.2 ที่เหลือเป็นเชื้อเดลต้า ร้อยละ 2.8 โดยพบเชื้อโอมิครอนทุกจังหวัดแล้ว แต่มี 10 จังหวัดที่พบมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ หนองคาย สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และขอนแก่น ทั้งนี้ ผู้เดินทางเข้าประเทศมีเชื้อโควิด-19 เป็นสายพันธ์ุโอมิครอน ร้อยละ 100 ส่วนในประเทศก็พบมากขึ้นเรื่อยๆ อีกไม่นานก็จะเข้า ร้อยละ 100 และด้วย BA.1 ที่ระบาดกว้างขวาง ก็ขยับเป็น BA.1.1 ซึ่งตรวจจับได้ในประเทศเช่นกัน

“ตามธรรมชาติไวรัสที่ติดเชื้อซ้ำมากๆ ก็ออกลูกหลาน มีโอกาสกลายพันธุ์ จากเดิมที่เป็นสายพันธุ์ B.1.1.529 เราเรียกว่า BA.1 เป็นสายพันธุ์หลัก มีการส่งข้อมูลเข้าไปในจีเสส (GISAID) ประมาณ 6 แสนกว่าตัวอย่าง ส่วน BA.2 มี 5 หมื่นกว่าตัวอย่าง จาก 57 ประเทศ แต่ยังไม่ถึง ร้อยละ 10 พบมากที่เดนมาร์ก ซึ่งพบมากกว่า BA.1 และ BA.3 เจอน้อยมากเพียง 297 ตัวอย่าง” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย ขณะนี้แทบไม่มีสายพันธุ์แอลฟา สายพันธุ์จี และสายพันธุ์อู่ฮั่น แล้ว จะเหลือเพียงสายพันธุ์โอมิครอนกับสายพันธุ์เดลต้าเท่านั้น

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำหรับ BA.2 ตรวจพบในอินเดีย และแอฟริกาใต้ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 โดยประเทศไทยพบรายแรกในต้นเดือนมกราคม 2565

Advertisement

ความสำคัญของ BA.1 และ BA.2 คือ มีลักษณะกลายพันธุ์เหมือนกัน 32 ตำแหน่ง และต่างกัน 28 ตำแหน่ง อันที่เป็นจุดสำคัญของ BA.2 จากที่ควรจะมีตำแหน่งที่หายไปจากสายพันธุ์เดลต้าในตำแหน่ง HV69-70 แต่ปรากฎว่าไม่ได้หายไป แต่เรายังมีวิธีตรวจจับได้ ประเทศที่พบว่าสายพันธุ์นี้จะมาแทน BA.1 คือ อินเดีย เดนมาร์ก สวีเดน โดยถ้า BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 ก็จะมีการแทนที่กันในอนาคต ฉะนั้นประเทศไทยต้องจับตาดู ซึ่งคำถามว่า เร็วขึ้น หลบวัคซีน หรือมีความรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ ก็พบว่ามีสัญญาณว่าแพร่เร็วขึ้น ความรุนแรงกับหลบวัคซีนที่ต้องดูจากตำแหน่งกลายพันธุ์ ซึ่งข้อมูลขณะนี้ ยังมีข้อแตกต่างไม่มากเมื่อเทียบกับ BA.1 เพราะต้องดูในสนามจริงว่า คนติดเชื้อจะรุนแรงมากกว่าแค่ไหน” นพ.สุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วิธีการตรวจโอมิครอน เราตรวจที่ตำแหน่ง G3339D ถ้าไม่พบตำแหน่งนี้คือเป็น สายพันธุ์ เดลต้า แต่ถ้าพบก็จะเป็นเชื้อโอมิครอน แต่ถ้าจะแยกเป็น BA.1 หรือ BA.2 ต้องตรวจที่ตำแหน่ง HV69-70 เพิ่มเติมอีก หากตรวจไม่พบก็จะเป็น BA.1 แต่ถ้าพบก็จะเป็น BA.2 ด้วยวิธีนี้จะทำให้ตรวจเร็วขึ้น โดยไม่ต้องส่งทำตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัวที่ต้องเวลาถึง 10 วัน โดยเรากำลังพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในต่างจังหวัดสุ่มตร;จเพื่อรู้สถานการณ์ BA.2 มากขึ้น

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ข้อมูลการสุ่มตรวจสายพันธุ์ เฉพาะวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 1,975 ตัวอย่าง ในผู้เดินทางเข้าประเทศ 638 ตัวอย่าง พบเป็น B.1.1 จำนวน 596 ตัวอย่าง BA.1 จำนวน 34 ตัวอย่าง และ BA.2 จำนวน 8 ตัวอย่าง สำหรับการตรวจในประเทศ 1,337 ตัวอย่าง พบเป็น B.1.1 จำนวน 812 ตัวอย่าง BA.1 จำนวน 428 ตัวอย่าง และ BA.2 จำนวน 97 ตัวอย่าง

Advertisement

ฉะนั้น เราเจอโอมิครอน BA.2 ภาพรวมในประเทศคิดเป็น ร้อยละ 18.5 ส่วน BA.1 ร้อยละ 81.5 อย่างไรก็ตาม การตรวจมีความจำกัดในบางศูนย์ตรวจ ซึ่งเรากำลังจะทำให้มีความครอบคลุม เพื่อให้เห็นภาพจริงของประเทศ” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า ส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวจาก 500 กว่าตัวอย่าง ที่เป็นคนละช่วงเวลา และกว่าผลจะออกมา ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จะช้ากว่าการตรวจหาสายพันธุ์เบื้องต้น 2,000 กว่าตัวอย่าง ถ้าเป็นตามนี้คือ การถอดทั้งตัวเจอ BA.2 จะอยู่ที่ร้อยละ 2 กว่าๆ เท่านั้น แต่เมื่อข้อมูลล่าสุดที่ตรวจเบื้องต้นพบถึง ร้อยละ 18.5 แสดงให้เห็นว่า แนวโน้ม BA.2 เริ่มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีการรายงานในสัปดาห์ต่อๆ ไป

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สรุปได้ว่าเชื้อโอมิครอนเป็นเจ้าตลาดแทนเชื้อเดลต้าเกือบหมด โดยระดับโลกยังเพิ่มขึ้นเร็ว การที่แพร่เร็ว ติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ ก็มีโอกาสกลายพันธุ์ ทั้งเป็นสายพันธุ์ย่อยในบางตำแหน่งที่เปลี่ยนไป หรือกลายเป็นพันธุ์ใหม่เลยก็ได้ ที่อาจจะรุนแรงขึ้นได้ ต้องลุ้นต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่พบ เหมือนที่หลายคนบอกว่า อย่าเพิ่งสรุปว่าจะจบ เพราะมันอาจจะยังไม่จบก็ได้

ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงการติดตามความรุนแรงของเชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ว่า จะมีการส่งข้อมูลไปยังกรมการแพทย์ เพื่อดูอาการทางคลินิกของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว เพื่อดูความรุนแรง การใส่ท่อช่วยหายใจ และการเสียชีวิต โดยมีข้อมูลวิชาการหลายฉบับระบุว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นยังลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ทั้งสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2

ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ จะมีการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.1 และ BA.2 คาดว่าจะเป็นแนวทางว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นสูตรต่างๆ มีผลต่อสายพันธุ์ต่างๆ อย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกรณีการพบสายพันธุ์โอมิครอนกับเดลต้าในผู้ติดเชื้อ 1 ราย หรือเชื้อเดลต้าครอนในประเทศอังกฤษ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวจะต้องรอการยืนยันเข้าในระบบจีเสสก่อน ส่วนที่พบในประเทศไซปรัสก่อนหน้านี้ ถือเป็นการปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งจีเสสได้ถอนข้อมูลออกจากระบบไปแล้ว ฉะนั้น ก็ต้องติดตามในส่วนนี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image