สัตวแพทย์ชี้ “พลายโค้ก” ดำน้ำ ไม่ได้อาย แต่เพราะฉลาดมาก จึงพยายามรักษาตัวเอง และ “หนีหมอ”(คลิป)

สัตวแพทย์ชี้ “พลายโค้ก” ดำน้ำ ไม่ได้อาย แต่เพราะฉลาดมาก จึงพยายามรักษาตัวเอง และ “หนีหมอ”

คืบหน้าการติดตามรักษาอาการ “พลายโค้ก” ช้างป่าบาดเจ็บ ในพื้นที่ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 สัตวแพทย์หญิง(สพ.ญ.) มัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย สัตวแพทย์ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ทีมสัตวแพทย์และสัตวบาลจากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับหัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ชุดที่ 6 เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าสีระมัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า กลุ่มอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า เข้าติดตามและรักษาอาการบาดเจ็บของช้างป่า “พลายโค้ก” บริเวณพื้นที่ ต.ห้วยทับมอญ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง

จากการติดตามอาการพบว่าช้างป่ายังคงมีอาการเจ็บขาหน้าขวาอยู่ ปากแผลบวมและมีหนองปนเลือดไหลออกมา ลักษณะการเดินเป็นไปได้ลำบาก เวลากลางวันส่วนใหญ่จะแช่อยู่ในน้ำ จะขึ้นมาบนบกตอนกลางคืน ช้างป่ายังกินอาหารได้มาก (เต่าร้าง ต้นกล้วย ใบกล้วย อ้อย มีผลไม้เสริมเล็กน้อย) และยังปัสสาวะและอุจจาระได้ปกติ

Advertisement

ทั้งนี้ได้ทำการรักษา โดยให้ยารักษาแบบฉีดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ยารักษาการติดเชื้อ (เป็นวันที่ 6) และยาลดปวด โดยการยิงจากระยะไกล และล้างแผลบริเวณขาหน้าขวาได้บ้างเล็กน้อย

จากการประเมินค่าคะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย = 3/5 ( น้ำหนักมาตรฐาน ) ซึ่งแผนการรักษาจะได้ทำการยิงยารักษาการติดเชื้อ ยาลดปวด ยาบำรุงร่างกายระยะไกลติดต่อกันทุกวัน ด้านภาพรวมอาการทรงตัวจนถึงอาการแย่ (Guard – Poor) ต้องประเมินอาการวันต่อวันต่อไป

Advertisement

 

ด้านนายสัตวแพทย์(น.สพ.)ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้าฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ เรื่องที่ได้โพสต์คลิป พลายโค้กดำน้ำ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ว่า กรณีช้างป่าบาดเจ็บหรือมีบาดแผล เช่น มีหนอง ติดเชื้อหรือมีเชื้อตาย มักจะหาแหล่งน้ำ หรือบริเวณที่มีดินโคลน เอาน้ำหรือโคลนพ่นใส่แผล เพื่อระงับความเจ็บปวด ไล่หนอน หรือแมลงวันที่มาตอมแผล

ยิ่งหากช้างตัวไหนที่ฉลาดมาก ก็จะหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปลาอาศัยอยู่ แล้วจะลงไปแช่ทั้งตัว เพื่อให้ปลาเข้ามาตอดบริเวณที่มีแผล หรือเป็นหนอง หรือกรณีมีบาดแผลหรือมีไข้ด้วย การลงไปแช่น้ำทั้งตัว ก็เพื่อให้น้ำช่วยลดไข้ลดความร้อนในตัว ถือเป็นความฉลาดของช้างที่ใช้ธรรมชาติบำบัดให้ตัวเอง

“อย่างไรก็ตาม วิธีการเช่นนี้เป็นการลดความเจ็บปวดแบบเฉพาะหน้าเท่านั้น หากช้างแช่น้ำนานเกิน 2 สัปดาห์ ก็จะทำให้แผลเปื่อยยุ่ย หายช้า โอกาสที่จะเกิดแผลเน่าก็มีมากขึ้น ซึ่งพลายโค้กเป็นช้างป่าที่ฉลาดมาก เขารู้ว่า หมอจะมาตอนไหนก็หลบหมอตอนนั้น ก่อนหน้าเขาจะมุดน้ำตอนหมอมาตอนกลางวัน และขึ้นมาจากน้ำตอนกลางคืน เพราะรู้ว่าหมอไม่มากลางคืน แต่ตอนนี้หมอจึงเปลี่ยนเวลาเป็นให้ยาตอนกลางคืน หรือให้ยาแบบไม่ซ้ำเวลา เพื่อไม่ให้พลายโค้กมุดน้ำหนีได้อีก สำหรับอาการโดยรวมของพลายโค้กเวลานี้คือ ทรงๆ 50:50 และยังต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด”น.สพ.ภัทรพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image