อย่าหาทำ! แพทย์ชี้ใช้ถังดับเพลิงฉีดสร้างบรรยากาศเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

อย่าหาทำ! แพทย์ชี้ใช้ถังดับเพลิงฉีดสร้างบรรยากาศเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

วันนี้ (18 ก.พ.65) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีการแชร์คลิปในโลกออนไลน์ ผู้หญิงรายหนึ่งหลบอยู่หลังฉากใช้ถังดับเพลิงสีแดง ฉีดเพื่อสร้างละอองควันสีขาว เหมือนใช้น้ำแข็งแห้งไปยังเวที ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ถังดับเพลิงมีไว้เพื่อดับเพลิง ไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างควันที่ใช้ในงานต่างๆ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ถังดับเพลิงมีไว้เพื่อดับเพลิง ในเหตุการณ์นี้โชคดีจะเห็นว่าเป็นเวที ซึ่งเป็นพื้นที่เปิด ถ้าเป็นในห้อง อาจจะเป็นข่าวหน้าหนึ่งแทนคลิป ไวรัล (clip viral)

“กรณีในคลิป จะเห็นว่ามีการพ่นไปที่เวที ซึ่งเป็นห้องเปิดกว้าง อันตรายต่อคนอยู่บนเวทีจึงน่าจะน้อย เพราะควันจะถูกเจือจางจากอากาศ แต่สำหรับผู้พ่น อาจจะเกิดอันตราย เพราะต้องซ่อนตัวในหลืบเป็นที่ปิด โดยอันตรายนั้นเป็นจากการขาดออกซิเจน จากควันคาร์บอนไดออกไซด์ที่ฟุ้งในที่อับด้านหน้า ถ้าดูลักษณะการหลบในหลืบ ก็อาจอนุมานได้ว่าเกิดที่อับอากาศขึ้น ซึ่งนิยามคือสถานที่ซึ่งไม่ได้เข้าไปทำงานประจำ มีทางเข้าออกจำกัด ยังขาดแต่ไม่มีการวัดออกซิเจนว่าต่ำกว่าร้อยละ 19.5 หรือไม่ เมื่อพ่นก๊าซดับเพลิงออกมา นอกจากนี้ การใช้ถังดับเพลิง โดยเฉพาะที่ไม่มีคุณภาพก็อาจทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์ซึ่งทำให้ผู้ถือถังรู้สึกเจ็บแสบบริเวณมือด้วย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) นพรัตนราชธานี กล่าวว่า โดยปกติจะแบ่งประเภทของไฟไหม้ตามวัสดุที่ไหม้เป็น ประเภท A จากของแข็งเช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ฯลฯ ประเภท B คือ ของเหลวและก๊าซติดไฟ เช่นน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม จารบี ประเภท C คือ จากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ ประเภท D คือวัตถุของแข็งหรือโลหะไวไฟ เช่นไตตาเนียม ประเภท K คือน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร ถังดับเพลิงชนิดผงคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้สำหรับดับเพลิงประเภท B หรือ C ทั้งนี้มีลักษณะเป็นถังสีแดง มีหัวฉีดขนาดใหญ่ โดยก๊าซที่ฉีดออกมาจะเป็นไอเย็นจัด คล้ายน้ำแข็งแห้ง ลดความร้อนของไฟได้ ข้อดีคือไม่ทิ้งคราบสกปรก เนื่องจากใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวดับเพลิง เวลาพ่นออกมาจึงทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

นพ.เกรียงไกร กล่าวว่า โดยปกติอากาศที่เราหายใจจะมีก๊าซต่างๆ ได้แก่ ไนโตรเจน ร้อยละ 78 ออกซิเจนประมาณ ร้อยละ 21 ที่เหลือคือคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่นๆ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พ่นออกไปจากเครื่องดับเพลิง ถ้าพ่นในพื้นที่ปิดหรือในห้องที่ทึบไม่มีหน้าต่างหรือการระบายอากาศ จะไปแย่งที่ออกซิเจนบรรยากาศในห้อง และทำให้คนหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าปกติ ทำให้เกิดการพร่องออกซิเจน โดยมีอาการเริ่มต้นได้ตั้งแต่ มี ผิวหนังซีด หรือเป็นสีเขียวคล้ำ ไอ คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ วิงเวียนหรือปวดศีรษะ มีเหงื่อออกมาก รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ วูบวาบตามตัว มือเท้าชา หายใจลำบาก ถี่ หรือมีเสียงหวีด รู้สึกกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ตาพร่ามัว สับสน มึนงง ซึม การรับรู้ตัวลดลง ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก หากปล่อยไว้อาจเกิดอาการเพ้อ ชัก หมดสติ อาจเข้าสู่ภาวะโคม่า และอาจเสียชีวิตได้

Advertisement

“ดังนั้นจากในคลิปนี้มีจุดที่น่าสนใจ คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากคือผู้ฉีด ผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่น้อยคือผู้ที่อยู่ในเวที เป็นการทำงานในที่อับอากาศเสมือน (ขาดแต่ยังไม่มีการตรวจวัดออกซิเจน) ทั้งสองคนที่ได้รับผลกระทบควรทบทวนอาการที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ามีหรือไม่ และถ้าเป็นห้องปิดเช่นห้องคาราโอเกะ การพ่นก๊าซดับเพลิงแบบนี้อาจมีอันตรายจนถึงหมดสติ หรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในคนสูงอายุ มีโรคประจำตัว ถังดับเพลิงมีไว้เพื่อดับเพลิง และจะมีอันตรายถ้าไปใช้อย่างอื่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์” นพ.เกรียงไกร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image