สัปดาห์หน้าปรับแผนรักษาโควิด แง้มกติกายูเซ็ป พลัส ให้ออกซิเจนต้องนอน รพ.

สัปดาห์หน้าปรับแผนรักษาโควิด แง้มกติกายูเซ็ป พลัส ให้ออกซิเจนต้องนอน รพ.

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เตียงรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ใน 10 จังหวัด ที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต นนทบุรี นครราชสีมา สมุทรสาคร ปทุมธานี และบุรีรัมย์ ว่า ภาพรวมทั้งหมด ยังมีปริมาณเปอร์เซ็นต์เหลืออยู่ แต่หากแจกแจง พบว่า หลายจังหวัดมีปัญหาเตียงสีเขียวที่รองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการน้อยถึงไม่มีอาการ เช่น นครราชสีมา เตียงสีเขียวเต็ม 100% ดังนั้นต้องขอทำความเข้าใจประชาชน โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ ว่า หากใช้นโยบายรักษาที่บ้าน หรือในชุมชนเป็นอันดับแรก (Home and Community Isolation First) จะทำให้มีเตียงโรงพยาบาล (รพ.) รองรับผู้ป่วยที่มีอาการ

“ระลอกนี้ มีภาพที่เห็นต่างจากระลอกที่แล้ว ด้วยระลอกที่แล้วเดินเข้ามาส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อ แต่ระลอกนี้พบผู้ป่วยโรคอื่น เช่น เบาหวาน ความดัน ที่ควบคุมไม่ได้ โรคหัวใจที่ควบคุมไม่ได้ ใจสั่น โรคกระเพาะ เลือดออกในกระเพาะ ที่เข้า รพ.แล้วคัดกรองพบเชื้อโควิด-19 ไม่ได้มาด้วยโควิด-19 แต่มาด้วยโรคอื่น เมื่อพบเชื้อก็ต้องแยกไปนอนหอผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้เตียงสีเขียวส่วนหนึ่งถูกครองโดยผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 สีเขียวแต่มีโรคร่วม ซึ่งเราต้องจัดเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองไปโดยปริยาย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขอให้ผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีโรคประจำตัว ใช้นโยบาย HI/CI Frist เพื่อให้เตียง รพ.สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการเตียงจริงๆ ทั้งนี้ ภาพรวมเตียงเพียงพอ แต่อาจตึงเป็นบางแห่ง ส่วนในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี หรือ (รพ.เด็ก) ต้องหมุนเตียงทุกวัน

“เนื่องจากรับผู้ติดเชื้อเด็กไว้ในเตียงเขียวค่อนข้างมาก เราเข้าใจพ่อแม่เมื่อลูกป่วยก็ตกใจ เราจึงรับไว้ใน รพ. ประมาณ 48 ชั่วโมง แล้วหากไม่มีอาการเพิ่มเติม ก็จะให้ไปรักษาที่บ้านต่อจนครบ 10 วัน โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 1 ปี จึงวิงวอนผู้ปกครองว่า เราอาจรับนอน รพ.ได้ครบทุกราย แต่สำหรับรายที่มีอาการต้องนอน รพ. เราจะหาเตียงให้ได้ อย่างไรก็ตาม ขอวิงวอน รพ.ทุกสังกัด ช่วยกันรับผู้ป่วยเด็ก คัดกรองอาการว่าจำเป็นต้องนอน รพ.หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเด็กติดโควิด-19 ใน รพ.เด็ก ณ ขณะนี้ มีอาการหนักเพียง 1 ราย และอาการเริ่มดีขึ้นแล้ว” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับแผนระยะถัดไป 1.ภาครัฐจะเพิ่มการดูแลแบบ Hotel Isolation 2.เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ติดเชื้อที่ต้องนอน รพ. มีเตียงรองรับ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อไต่ระดับทุกวัน

“วันนี้หากรวม ATK แล้วก็ประมาณ 3 หมื่นราย มาต่อเนื่อง 2 วันแล้ว ฉะนั้น กรมการแพทย์หารือร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกเกณฑ์ยูเซ็ป พลัส (UCEP Plus) เพื่อให้ผู้ป่วยที่ผ่านการประเมินว่า เป็นสีเหลืองต้องนอน รพ. สามารถเข้า รพ.ไหนก็ได้ รวมถึง รพ.เอกชน ด้วย ซึ่งเกณฑ์กำลังจะออกมา และ 3.การขยายเตียง โดยลดจำนวนเตียงประเภท Non Covid-19 มารองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพราะเคยพบผู้ติดเชื้อสูงสุด 23,000 ราย เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 จึงเป็นแผนระยะถัดไป ตอนนี้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีเล็กน้อย ให้ใช้ HI/CI Frist เพื่อสำรองเตียงไว้ให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง ตอนนี้เราพบปัญหาว่า สายด่วน 1330 จัดเข้าระบบ HI แต่ผู้ติดเชื้ออยากหาฮอสปิเทลก่อน แล้วกลับมาแจ้งว่าหาไม่ได้ ดังนั้น ยืนยันว่าระบบ HI เรามีมาตรฐาน มีอาหารส่ง 3 มื้อ มีแพทย์เทเลเมดิซีนทุกวัน และมีอุปกรณ์ให้ครบ ขอให้ประชาชนหายห่วง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงยูเซ็ป พลัส สำหรับโควิด-19 นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณาหลักๆ ผู้ป่วยเริ่มมีอาการรุนแรง ถือว่าเป็นสีเหลืองต้องเข้ารักษาใน รพ. คือ ต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการพิจารณาว่าต้องใช้ออกซิเจน ไม่ว่าจะเป็นออกซิเจนใส่ทางจมูก หรือแคนนูลา (Oxygen Nasal Cannula) หรือออกซิเจนไฮ โฟลว์ (Oxygen High Flow) แต่หากใส่ท่อช่วยหายใจจะเป็นสีแดง สามารถเข้ารักษาที่ไหนก็ได้

Advertisement

“แต่ตอนนี้ มีการเพิ่มเกณฑ์อีกอย่าง คือ ผู้ป่วยสีเหลืองจะเป็นผู้ป่วยสีเขียว แต่มีโรคร่วมที่ควบคุมไม่ได้ เช่น โรคกระเพาะและำบเลือดออกในกระเพาะ ซึ่งขณะนี้ พบมากที่ รพ.ราชวิถี เจอว่า มีเลือดออกในกระเพาะเมื่อไป รพ. จึงได้คัดกรองโควิด-19 และพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ แม้แต่สถาบันประสาทวิทยา และสถาบันทรวงอกก็เจอเช่นกัน ซึ่ง สบส จะออกเกณฑ์ว่า ต้องทำอย่างไร สามารถรักษา รพ.เอกชน ได้ หรือหากไปรักษาสถาบันประสาทฯ แต่ไม่มีเตียง สามารถส่งต่อ รพ.เอกชนได้เช่นกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า สรุปคือ อาการสีเขียวไม่มีอาการ แต่มีโรคร่วมจะถือเป็นสีเหลือง ซึ่งก็จะเข้าข่ายในยูเซ็ป พลัส

เมื่อถามว่าจะมีการเพิ่มรูปแบบ Hotel Isolation อย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันก็มีอยู่ อย่างกรณีคนติดเชื้ออาศัยในคอนโดมิเนียมคนเดียว และยินดีทำ HI แต่นิติบุคคลคอนโดฯ ไม่ให้ และติดขัดเรื่องการเข้าอยู่ CI จึงมีการพูดคุยรูปแบบนี้ อย่างไรก็ตาม Hotel Isolation แตกต่างจากฮอสปิเทล ตรงฮอสปิเทล มีบุคลากรทางการแพทย์ แต่ Hotel Isolation ก็เหมือนกับ HI และ CI จึงขอความกรุณาทุกคอนโดฯ ในเรื่องนี้ด้วย

“ในระบบ CI บางคนก็ไม่สะดวก เพราะบางแห่งไม่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งก็เข้าใจ ขณะนี้ได้หารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการปรับเรื่องนี้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วย HI และ CI รวมทั้งฮอสปิเทล ไม่แตกต่างกันในการดูแลทางการแพทย์ แต่หากความสบายยอมรับว่ามี

“แต่ช่วงนี้เราต้องเอาความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ความสบาย อีกหน่อย หากยกเลิกยูเซ็ป โควิด-19 (UCEP Covid-19) ส่วนของฮอสปิเทลก็จะไม่มาก และการไปครองเตียงใน รพ. จะทำให้ผู้ป่วยอื่นๆ ที่ต้องเข้า รพ. ที่ไม่ใช่โควิด-19 ได้รับผลกระทบไปด้วย ไกด์ไลน์ในการดูแลผู้ป่วย HI และ CI ยังเหมือนเดิมอยู่ที่ 10 วัน แต่ขณะนี้กำลังมีการพิจารณาไกด์ไลน์ใหม่ คาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งจะน้อยลงจากเดิม 10 วัน ส่วนจะมีการเพิ่มตรวจ ATK ก่อนออกจากการรักษาหรือไม่ ขอดูไกด์ไลน์ใหม่ก่อน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image