สาธิต แจงดึงอินฟลูเอนเซอร์จูงใจคนไทยปั๊มลูกช่วยชาติ แค่ยก ตย. ยันต้องแก้ทั้งโครงสร้าง

สาธิต แจงดึงอินฟลูเอนเซอร์จูงใจคนไทยปั๊มลูกช่วยชาติ แค่ยก ตย. ยันต้องแก้ทั้งโครงสร้าง

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการพิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมส่งเสริมให้คนไทยอยากมีลูก เพื่อแก้ปัญหาเด็กไทยเกิดน้อย ด้วยการดึงอินฟลูเอนเซอร์มาเล่าประสบการณ์ เพื่อให้เห็นข้อดี เห็นความสุขของการมีลูก ว่า ได้รับทราบประเด็นนี้แล้ว แต่ก็เข้าใจดี เพราะขณะนี้กำลังทำเรื่องยาก เป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจ

“ในกรณีกิจกรรมดังกล่าว เป็นเพียงการยกตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างส่วนเดียวที่เราจะทำ ที่ต้องประกอบกับหลายเรื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากรที่เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องทำทั้งระบบคือ การทำให้คู่สมรสที่แต่งงานกัน มีข้อมูลมากเพียงพอในการมีบุตร ทั้งหมดนี้ เราต้องเริ่มจากการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ การวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อใช้โอกาสนี้สะท้อนปัญหา ให้ทุกคนตระหนักร่วมกัน เพื่อการเตรียมตัวเผชิญหน้า รองรับสถานการณ์ในอนาคต” นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวว่า รัฐบาล โดย สธ.กำลังให้ข้อมูลว่า ทราบถึงความกังวลเรื่องค่าครองชีพในการมีบุตรที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ใช้เวลาจากพ่อแม่ ซึ่งต้องทำนโยบายให้เอื้อต่อพ่อแม่มากที่สุด

“ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนค่านิยม ให้เห็นว่า ปัญหานี้จะเกิดขึ้นชัดในอีก 10 ปีข้างหน้า หากอัตราเกิด ตายยังอยู่ในระดับนี้ อนาคตประชากรไทยจะเหลือ 40 ล้านคน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ ศักยภาพแข่งขันลดลง คนทำงานจะน้อยลง โดยคนวัยทำงานต้องดูแลคนสูงอายุมากขึ้น จากคนวัยทำงาน 10 คน ต่อ ผู้สูงอายุ 1 คน จะเหลือคนวัยทำงานเพียง 1.7 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ฉะนั้น ปัญหานี้จำเป็นต้องถูกพูดถึง ที่สำคัญ แม้รัฐบาลใดเข้ามาบริหารประเทศ ก็ต้องนำเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขโครงสร้างประชากรในอนาคตให้ได้” นายสาธิต กล่าว

Advertisement

รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ สิ่งที่ได้ดำเนินการร่วมกันในหลายภาคส่วน เช่น สิทธิตั้งแต่การตั้งครรภ์ มารดาจะเข้าถึงสิทธิตรวจสุขภาพ ตรวจหาเชื้อซิฟิลิสในคู่สมรส การเข้าถึงสิทธิตรวจครรภ์หาโอกาสเกิดดาวน์ซินโดรม เมื่อคลอดแล้วจะมีมาตรการรองรับด้วยการอุดหนุนค่าเลี้ยงดูบุตรจากกองทุนประกันสังคม 800 บาท และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 600 บาท รวม 1,400 บาทต่อเดือนต่อเด็ก 1 คน ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงเด็กอายุ 6 ปี

นายสาธิต กล่าวว่า ส่วนการเลี้ยงดูเด็กระหว่างที่พ่อแม่ต้องทำงาน กระทรวงแรงงานก็มีนโยบายให้สถานประกอบการจัดมุมให้นมบุตร ขณะที่ สวัสดิการลาคลอดของแม่เพิ่มจาก 3 เป็น 6 เดือน และพ่อก็สามารถลาไปเลี้ยงดูบุตรได้ด้วย โดยขณะลาก็ยังได้รับเงินเดือนตามปกติ ทั้งนี้ เพื่อให้คู่สมรสที่มีลูกได้ใช้เวลาเลี้ยงดูบุตรในช่วงแรกเกิด ส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก และเพื่อสร้างความอบอุ่นในครอบครัว

“หากเกิดเป็นวาระแห่งชาติ ต้องให้ความสำคัญ เช่น การเรียนฟรี เพื่อลดค่าใช้จ่ายพ่อแม่อย่างจริงจัง รวมถึงการคำนวณว่า หากจะวางแผนมีบุตร สำหรับคนที่เรียนจบปริญญามา ทำงานอีกกี่ปีจึงควรจะมีบุตรได้ ทั้งหมดนี้ต้องคิดเข้ามาในระบบ ซึ่งคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ก็ได้คิดทั้งหมดของเรื่องอยู่แล้ว แต่ว่า เรื่องที่จะให้อินฟลูเอนเซอร์เข้ามาร่วมรณรงค์ เป็นเพียงตัวอย่างเดียวในการปรับเปลี่ยนค่านิยมในยุคสมัยใหม่ โดยเราต้องสื่อสารผ่านผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดในทุกสาขาอาชีพ ทุกฐานรายได้ครอบครัว ได้นำเสนอแนวคิดการมีลูกอย่างมีความสุข ให้ความคิดดีๆ เหล่านี้เกิดการซึมซับในสังคมได้” นายสาธิต กล่าว

Advertisement

นายสาธิต กล่าวว่า ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก แต่ไม่เริ่มทำวันนี้ก็ไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลาตั้งแต่การให้ความสำคัญ สร้างความตระหนัก การกำหนดนโยบาย การใช้งบประมาณ ซึ่งต้องย้ำว่า เงินไม่ใช่คำตอบเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่มีการอุดหนุนเด็กแรกเกิด 1 แสนบาท แต่ก็แก้ไขปัญหาเกิดน้อยไม่สำเร็จ ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องคิดทั้งระบบ จึงจะเปลี่ยนค่านิยมได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image