ลุ้น! ศบค.ขันนอตมาตรการโควิดพรุ่งนี้ สธ.ยันชงแค่สถานการณ์โรคให้ที่ประชุมเคาะ

ลุ้น! ศบค.ขันนอตมาตรการโควิดพรุ่งนี้ สธ.ยันชงแค่สถานการณ์โรคให้ที่ประชุมเคาะ

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อ อาการหนัก และผู้เสียชีวิต เพิ่มสูงขึ้น และการออกมาตรการต่างๆ รองรับว่า ขณะนี้พบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นจริง แต่จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นสีเขียวสามารถเข้าระบบรักษาที่บ้านหรือชุมชนได้ (Home and Community Isolation) โดยเมื่อทราบว่าติดเชื้อแล้ว ให้ติดต่อไปที่สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งจะมีแพทย์ติดตามอาการทุกวัน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสบายใจได้ว่า หากมีอาการเปลี่ยนแปลงสามารถแจ้งกับแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) ได้ทันที ซึ่งต่างประเทศก็ให้ดำเนินการเช่นนี้ หากไม่มีอาการ ประชาชนสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ ประมาณ 5-7 วัน เมื่อตรวจหาเชื้อก็จะไม่พบเชื้ออีก

“อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ขณะนี้เตียงใน รพ.มีเพียงพอสำหรับผู้ป่วย ซึ่งเราจะต้องแบ่งตามอาการ หากคนที่ไม่มีอาการอะไรขอให้เข้าสู่ HI/CI เป็นอันดับแรกก่อน เก็บทรัพยากรเตียงไว้ให้ผู้ป่วยที่มีอาการ และการอยู่บ้าน ก็ไม่ได้ปล่อยให้อยู่เฉยๆ เรามีแพทย์คอยติดตามอาการอยู่ และส่วนใหญ่ก็ไม่มีอาการเปลี่ยนแปลง” นพ.โอภาสกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจมีจำนวนเพิ่มขึ้น จำเป็นจะต้องมีมาตรการใดเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า พรุ่งนี้ (วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565) จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธานการประชุม ทาง สธ.จะนำเสนอสถานการณ์โควิด-19 ให้ที่ประชุมรับทราบ เพื่อร่วมพิจารณามาตรการต่อไป

นพ.โอภาสกล่าวว่า ในส่วนของ สธ.นั้น จะเสนอให้มีการเน้นย้ำเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ให้กับกลุ่มเสี่ยง 608 เพราะขณะนี้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ไปจนถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือไม่ได้รับการกระตุ้นวัคซีน

Advertisement

“จะเน้นย้ำในพื้นที่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น เร่งไปรับวัคซีนตามกำหนดเวลา และเน้นย้ำมาตรการเดิมให้เข้มข้น เช่น ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน มาตรการ Covid-19 free settings” นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้พบการติดเชื้อจากการรับประทานอาหารร่วมกัน จะเสนอ ศบค.ให้มีมาตรการงดรับประทานอาหารที่ร้านหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เบื้องต้นต้องรอ ศบค.พิจารณาอีกครั้ง แต่ทาง สธ.จะนำเสนอสถานการณ์ให้นายกฯ และกรรมการในที่ประชุมรับทราบก่อน

เมื่อถามอีกว่า จำเป็นต้องพิจารณามาตรการใดเป็นพิเศษหรือไม่ เช่น ปรับพื้นที่สี นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์ระบาด ณ ขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ได้คาดการณ์ไว้ อัตราผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตก็ยังอยู่ในระดับที่ได้คาดการณ์ไว้ตามฉากทัศน์ ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก

Advertisement

เมื่อถามว่า จะมีแนวโน้มถอยกลับไปใช้มาตรการเข้มงวดหรือไม่ เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัว นพ.โอภาสกล่าวว่า ขอให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันพรุ่งนี้ (วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565) ได้พิจารณาหารือร่วมกันก่อน

“ในส่วนของการกำหนดมาตรการนั้น หลายคนก็อยากให้เพิ่ม หลายคนก็อยากให้ลด เราต้องรับฟังหลายภาคส่วน ดังนั้น ขอให้ที่ประชุม ศบค.ร่วมกันพิจารณา ส่วน สธ.ก็จะนำเสนอสถานการณ์ต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น” นพ.โอภาสกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image