สปสช.แจงปมติดโควิดขอเข้า HI เจอไล่ไปซื้อยาเอง แนะจิตอาสาติดต่อเบอร์พิเศษหาเตียง

สปสช.แจงปมติดโควิดขอเข้า HI เจอไล่ไปซื้อยาเอง แนะจิตอาสาติดต่อเบอร์พิเศษหาเตียง

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีการติดต่อหน่วยบริการสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรณีระบบรักษาที่บ้าน (HI) ว่า ขอประชาสัมพันธ์ว่า หากแจ้งสายด่วน 1330 แล้ว ขอให้แอดไลน์สปสช. @nhso แล้วแจ้งข้อมูลอีกช่วงทางหนึ่ง หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับไป ให้แจ้งเข้าไปในไลน์ สปสช.ได้ ซึ่งขณะนี้มีคนแอดไลน์มาแล้วกว่า 2 ล้านคน หรือหากเข้ารับบริการแล้ว แต่ไม่ได้รับการดูแลตามที่ตกลงกัน เช่น ยังไม่ได้อุปกรณ์จำเป็น หรืออาหารไม่ได้ตามที่ตกลง ก็สามารถแจ้งเข้ามาได้ ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวกที่สุด เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่โทรศัพท์เข้าในระบบ 1330 โทรเข้า 3.7 พันราย ร้อยละ 50 เข้าระบบทันที ส่วนที่ยังรอเข้าระบบพบว่าโทรเข้ามาทุกๆ 2 ชั่วโมง ทำให้ปริมาณสายเพิ่มขึ้นวันละ 2 หมื่นสาย และบางเวลาก็ขาดช่วง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะโทรกลับ

“ขอให้แอดไลน์ สปสช.อีกช่องทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้กรณีที่เกิน 6 ชั่วโมง จะมีการรายงานไปที่ผู้อำนวยการเขต กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพราะขณะนี้ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งคนที่รอนานกว่า 6 ชั่วโมง มีประมาณ 1.2 พันราย” นพ.จเด็จ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีประชาชนร้องเรียนมาว่าแจ้ง 1330 แล้ว แต่ไม่มีเจ้าหน้านี้โทรกลับ บางพื้นที่ให้ประชาชนไปซื้อยากินเอง นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.มีหน้าที่ผูกหน่วยบริการ ดังนั้น ผู้โทรกลับจะเป็นหน่วยบริการ หากเป็น กทม.จะมีสำนักงานเขตนั้นๆ เป็นผู้ดูแล ย้ำว่า หากโทรไปแล้วไม่ถูกต้อง กรุณาแอดไลน์เข้ามา

เมื่อถามต่อว่า การให้ประชาชนรักษา HI เป็นหลัก แต่ไม่เคยถามความสมัครใจ หรือความพร้อมของประชาชนว่าสามารถอยู่ในระบบ HI ได้หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขอย้ำว่า 1330 จะมีการสอบถามความสมัครใจ จะไม่มีการบังคับผู้ป่วยว่าต้องเข้า HI เท่านั้น เพราะการคุยทางโทรศัพท์ ไม่มีวันรู้อาการแท้จริง เป็นเพียงข้อแนะนำและผูกกับหน่วยบริการให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ข้อมูลวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อโทรเข้ามา 3.7 พันราย นั้น ครึ่งหนึ่งปฏิเสธที่จะอยู่ HI มีคนสมัครใจเข้า HI ประมาณ 1.3 พันราย เท่านั้น

Advertisement

“ที่ปฏิเสธส่วนใหญ่ขอให้หาโรงแรม อีกส่วนขอให้หา รพ.ให้ แต่เท่าที่ประเมินแล้วไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง สามารถดูแล HI/ CI ได้ แต่พอปฏิเสธ เราก็จะบันทึกประวัติเข้าระบบ CRM ไว้ ซึ่งจากการติดตามคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไปหาการตรวจ RT-PCR ที่ รพ. ซึ่งต้องใช้เวลา 24-48 ชั่วโมง คนกลุ่มนี้ก็จะมีช่วงเวลาที่ต้องรอ” นพ.จเด็จ กล่าว

เมื่อถามอีกว่า ช่วงที่ผู้ป่วยปฏิเสธ HI แล้วไปตรวจ RT-PCR และต้องรอผล ระหว่างที่รอผล เขาจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อไม่ต้องไปอยู่ข้างถนนได้อย่างไร จะต้องเข้า CI หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขอแนะนำให้เข้าระบบ ของ สปสช.ก่อน ส่วนจะเข้าโรงแรม หรือ รพ.ต่อไป ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามย้ำถึงเหตุผลที่คนปฏิเสธ HI เพราะไม่พร้อมจะอยู่บ้าน แต่เหตุใดถึงต้องปฏิเสธระบบ CI แต่กลับยืนยันจะเข้าฮอสปิเทลอย่างเดียว นพ.จเด็จ กล่าวว่า คงมีเหตุผลหลายอย่าง อาจจะเป็นค่านิยม หรือการรับข้อมูลข่าวสารจากคนใกล้ชิด หรืออาจจะมีเจตนาส่วนอื่น และจากที่ทราบและสอบถามก็มีเรื่องของการเคลมประกันด้วย อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าทุกคนอาจจะมีเหตุผลของตนเอง แต่ระหว่างรออยากให้เข้าสู่ระบบ HI หรือ CI ก่อน จะทำให้ระบบไม่เกิดความวุ่นวายมาก

“จริงๆ จิตอาสาต่างๆ ที่ไปพบผู้ป่วยตามที่ต่างๆ เพื่อนำเข้าสู่ระบบนั้น สปสช. เคยมีการหารือ และให้เบอร์พิเศษสำหรับจิตอาสาส่งเคสเข้ามาอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา มีจิตอาสาส่งเคสเข้ามาให้เราตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 หลายพันราย เราก็ดำเนินการให้ ดังนั้น จิตอาสา ถ้าท่านเจอผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหา กรุณาโทรหาเราที่เบอร์โทรพิเศษที่ให้ไป หรือเข้ากลุ่มไลน์พิเศษของจิตอาสาแล้วส่งข้อมูลมาให้เรา ซึ่งตอนนี้ยังทำงานกันอยู่ เป็นระบบพิเศษเพื่อเปิดมาร่วมกันเก็บคนตกหล่น เพราะจิตอาสาเป็นหน่วยที่ลงพื้นที่ได้เร็วกว่า” นพ.จเด็จ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image