สธ.ส่งหนังสือ คปภ. ย้ำ! HI/CI ถือเป็นแอดมิต รพ. เตือนเอกชนอย่าเก็บค่าตรวจโควิดโหด

สธ.ส่งหนังสือ คปภ. ย้ำ! HI/CI ถือเป็นแอดมิต รพ. เตือนเอกชนอย่าเก็บค่าตรวจโควิดโหด

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการหารือแก้ปัญหาการเบิกจ่ายประกันของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่า ล่าสุด สธ.ได้ส่งหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิด-19 เป็นผู้ป่วยโควิด-19 จริง ไม่ว่าจะพักรักษาที่ Home Isolation (HI) หรือ Community (CI) ซึ่งเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว โดยได้ออกแบบให้รับผู้ป่วยค้างคืน มีเตียง จึงยืนยันเจตนาความเป็นผู้ป่วยใน เป็นผู้ป่วยจริง ซึ่งจะมีการติดตามทาง คปภ.เกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีตรวจ ATK เป็นบวกแล้ว แต่ต้องการยืนยันตรวจ RT-PCR เพราะต้องการเบิกประกันส่วนบุคคลจะทำอย่างไร เนื่องจากโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน ที่ตรวจ RT-PCR คิดราคาแตกต่างกัน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตรง RT-PCR มีอัตราราคากลางอยู่ โดยราคาก็ต้องเป็นไปตามกำหนด หากมีการคิดเกินเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการหารือกับภาคเอกชนเรื่องนี้

“ยืนยันว่า หากทางการแพทย์ยืนยันว่า เป็นผู้ป่วยโควิด-19 แสดงว่ามีการตรวจเชื้อ และยืนยันแล้วว่าป่วยโควิด-19 จริง ซึ่งก็ควรต้องครอบคลุมประกันที่ทำด้วย” นพ.ธเรศ กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีประชาชนไปขอตรวจยืนยัน RT-PCR ว่า สำหรับการตรวจ RT-PCR จะมีการปรับราคาการตรวจ 2 ยีน เป็น 900 บาท และตรวจ 3 ยีน 1,100 บาท ไม่ต้องอิงกับการประกาศปรับการรักษาโควิด-19 ฟรีตามสิทธิที่เพิ่งมีการชะลอออกไปก่อน เพราะเรื่องค่าตรวจเป็นเรื่องของหน่วยบริการ ซึ่งการปรับลดตรงนี้เราได้มีการหารือ และอิงตามอัตราค่าตรวจจริงในปัจจุบัน ดังนั้น ค่าตรวจ RT-PCR ที่หน่วยบริการเบิกได้ต้องเป็นไปตามอัตราที่กำหนด หาก รพ.เอกชน ใดคิดเกินราคา ก็จะเป็นเรื่องที่ สบส.ต้องไปดำเนินการ

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ก็มีราคากลางควบคุมอยู่ แต่มีประชาชนส่วนหนึ่งที่ไปตรวจ RT-PCR เพื่อขอยืนยันตรวจและกลับถูกเรียกเก็บสูงเกินอัตราจริง ซึ่งได้ร้องไปยัง สปสช. จะมีการติดตามขอคืนเงินให้ประชาชน ซึ่งบางส่วนเราเบิกคืนได้” นพ.จเด็จ กล่าว

เมื่อถามว่า เพื่อไม่ให้ถูกเรียกเก็บเกินจริง ประชาชนต้องไปขอตรวจ รพ. ที่เรามีสิทธิรักษาหรือไม่ เช่น มีสิทธิบัตรทองไปตรวจ รพ.ตามสิทธิ นพ.จเด็จ กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นจะดี แต่โดยหลักหาก ยึดราคาที่เบิกได้ ไม่ว่า รพ.ไหน สิทธิไหน สปสช.ก็จะตามจ่ายตามอัตราที่กำหนด

“จริงๆ การตรวจ ATK อย่างเดียวเมื่อผลเป็นบวกก็สามารถเข้าสู่ระบบแล้ว และ สธ.มีการสื่อสารมาตลอด แต่การตรวจเพิ่ม RT-PCR หากต้องการตรวจเพิ่มต้องเป็นหน้าที่ รพ. ไม่ใช่ของประชาชน ยกเว้นอาจมีปัจจัยเรื่องประกัน ก็เป็นได้” นพ.จเด็จ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าตรวจ ดูแล รักษาโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมารวมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เฉพาะปี 2564 รวมประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท ปี 2565 ณ ปัจจุบันนี้ ใช้ไปแล้ว 3.16 หมื่นล้านบาท กำลังขอเพิ่มอีก 5.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะใช้ปี 2565 ประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image