โควิดคร่าเด็กเล็กแล้ว 29 ราย แนะพ่อแม่สังเกตอาการ จี้หญิงท้องกว่า 2 แสนคน รับวัคซีนเข็มแรก

โควิดคร่าเด็กเล็กแล้ว 29 ราย แนะพ่อแม่สังเกตอาการ จี้หญิงท้องกว่า 2 แสนคน รับวัคซีนเข็มแรก

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงรายงานสถานการณ์เด็กปฐมวัยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า เด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 5 ขวบ มีข้อมูลการติดโควิด-19 ในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา สูงมากขึ้นกว่า 6,000 รายเศษ เป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับช่วงวัยอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย 6 จังหวัด ที่พบติดเขื้อสูงสุดคือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ยอดสะสมระลอกวันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน เด็กปฐมวัยติดเชื้อ 107,059 ราย เสียชีวิตสะสม 29 ราย เกินครึ่งมีโรคประจำตัว สาเหตุการติดเชื้อมาจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัว พร้อมกันนี้ เด็กเล็กยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ขาดความใส่ใจในสุขอนามัยจึงติดเชื้อได้ง่าย

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

 

นพ.เอกชัย กล่าวว่า ผลสำรวจอนามัยอีเว้นท์โพล การประเมินความเสี่ยงผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ พบว่า คนในครอบครัวมีการประเมินความเสี่ยงของตัวเองหลังจากออกนอกบ้านแล้วกลับบ้าน เพียง ร้อยละ 28 เท่านั้น รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเมื่ออยู่ในบ้าน เช่น การแยกใช้อุปกรณ์ส่วนตัว ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จับร่วม พบว่า ส่วนใหญ่ทำได้ไม่ถึงครึ่ง โดยเฉพาะการไม่กินอาหารร่วมกันและแยกใช้ห้องน้ำทำได้น้อยมาก จึงต้องแนะนำเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น รณรงค์ฉีดวัคซีนให้ครบ หลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันมากอย่านำเด็กเล็กไป ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมรวมถึงของเล่น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวร่วมต้องระวังเป็นพิเศษ

ADVERTISMENT

นพ.เอกชัย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกเดือนเมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน พบสะสม 6,829 ราย เสียชีวิต 110 ราย โดยมีเด็กเสียชีวิตตามไปด้วย หรือตายทั้งกลม 66 ราย เกินครึ่งหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตมีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีน มีฉีดเพียง 3-4 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตช่วงการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ทั้งนี้ การระบาดของเชื้อายพันธุ์โอมิครอน ระลอกเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา มีไม่ถึง 10 ราย อย่างไรก็ตาม มีหญิงตั้งครรภ์ที่ฉีดวัคซีนเพียง 115,000 ราย ขณะที่ยังมีอีก 2 แสนกว่าราย ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ยังไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนเลย

ADVERTISMENT

“ส่วนใหญ่ยังกังวลจะมีผลต่อลูกในครรภ์ ทั้งที่วัคซีนปลอดภัย จึงต้องเร่งรณรงค์ รวมถึงรณรงค์ให้คู่สมรสรับวัคซีนให้ครบ 3 เข็มก่อนตั้งครรภ์ กรณีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อที่ไม่มีโรคประจำตัวสามารถเข้าระบบดูแลที่บ้าน (HI) ได้ปกติ แต่ต้องระวังตนเอง หากมีอาการหนักขึ้น ไอ ไข้สูง หายใจไม่อิ่ม ระดับออกซิเจนค่ำกว่าร้อยละ  94 ให้ติดต่อแพทย์ที่ไปฝากครรภ์ หรือโทรสายด่วน 1330 และ สายด่วน 1669” นพ.เอกชัย กล่าว

ด้าน นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กล่าวว่า อาการเด็กติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลียเหมือนหวัด บางรายอาจมีผื่น เบื่ออาหารหรือท้องเสีย หากมีอาการหนัก ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกวก่าปกติ ใช้แรงในการหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่าร้อยละ 94 ซึมลง ไม่ดูดนม และไม่กินอาหาร ควรติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อนำเด็กเข้าโรงพยาบาล (รพ.) ทั้งนี้ เด็กเล็กต่ำกว่า 1 ขวบ ให้สังเกตที่การกิน ดื่มนม ส่วนกลุ่มที่เกิน 1 ขวบ ให้สังเกตที่การเล่น ถ้าพฤติกรรมดังกล่าวต่ำกว่า ร้อยละ 50-60 ควรนำพบแพทย์

“กรณีเด็กติดเชื่อแยกกักดูแลที่บ้านน สิ่งสำคัญคือ การเว้นระยะห่างโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เด็กอายุเกิน 2 ปี แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย และอย่าเปิดแอร์นอน ควรเปิดโล่ง และแยกของใช้ส่วนตัว หากมีไข้ให้พยายามเช็ดตัวเป็นระยะมากกว่ากินยาพาราเซตามอล ส่วนใหญ่ 1-2 วันไข้ลด และพยายามทำกิจกรรมเล่นกับลูก กรณีเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี ติดเชื้อที่เข้ารักษาใน รพ. ฮอสปิเทล หรือ CI จะให้ผู้ปกครองเข้าไปดูแลด้วย กรณีพ่อแม่ติดเชื้อ แต่เด็กไม่ติดจะให้ญาตินำเด็กไปดูแล หากไม่มีญาติให้ประสานบ้านพักเด็กช่วยดูแลเล็ก” นพ.ธีรชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image