ติดโควิดทำอย่างไร? สธ.ชี้ไม่ต้องตรวจ PCR โทร.1330 เข้า HI แนะกินฟาวิฯ เท่าที่จำเป็น!

ติดโควิดทำอย่างไร? สธ.ชี้ไม่ต้องตรวจ PCR โทร.1330 เข้า HI แนะกินฟาวิฯ เท่าที่จำเป็น!

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน ว่า ตามที่พบการระบาดทั่วประเทศมากขึ้น เตียงทั้งหมด 180,000 เตียง ขณะนี้มีอัตราครองเตียงรวม ร้อยละ 52 โดยพบว่าเตียงที่อยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) ส่วนใหญ่อาการไม่หนักเป็นกลุ่มสีเขียว หมายความว่า ผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็ยังมีเตียงรองรับได้อยู่ สัดส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน แบ่งตามกลุ่มสี คือ สีเขียวอาการน้อยเกือบ ร้อยละ 90 สีเหลือง มีอาการปานกลาง ร้อยละ 10 และสีแดง มีอาการรุนแรง ร้อยละ 0.4-0.5

ทั้งนี้ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบ่งเป็น 1.ผู้ที่มีอาการโควิด-19 และโรคอื่น เข้าไปตรวจหาเชื้อที่ รพ. จะใช้วิธีตรวจด้วย RT-PCR หรือ ATK Professional use หากเป็นบวก รพ.จะคัดแยกผู้ติดเชื้อว่าจะให้เข้ารักษาใน รพ. หรือระบบรักษาที่บ้านหรือชุมชน (Home and Community Isolation)

2.ผู้ป่วยที่ตรวจ ATK มาเอง เมื่อผลบวกแล้วไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ไม่ต้องเดินทางออกจากบ้านไป รพ.เพื่อตรวจ แต่ให้ติดต่อเข้าระบบสายด่วน สปสช.1330 ซึ่งได้เพิ่มกำลังคนจากภาคประสังคมที่เข้ามาช่วยเหลือ โอนสายให้คลินิก/หน่วยบริการ ใกล้บ้านโทรหาผู้ติดเชื้อได้เลย หรือติดต่อที่ไลน์ @nhso หรือเว็บไซต์ สปสช.เพื่อกรอกข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ นอกจากนั้น แต่ละจังหวัดจะมีเบอร์ศูนย์กลาง (คอลเซ็นเตอร์) รวมถึงกรุงเทพมหานคร 50 เขต ก็จะมีเบอร์ในทุกเขต ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็แจ้งว่าเพิ่มเจ้าหน้าที่รับสายแล้ว

Advertisement

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อร้อยละ 90 จะไม่มีอาการหรือมีเพียงเล็กน้อย ก็จะเข้าสู่ระบบ HI เป็นอันดับแรก แต่หากติดปัญหาเรื่องที่พัก ก็จะเข้า CI แต่หากมีอาการหนักมากขึ้น ระบบของ รพ.ที่ดูแลอยู่จะส่งเข้าศูนย์จัดหาเตียง เพื่อเข้า รพ.หลักต่อไป อย่างไรก็ตาม ระบบที่ติดขัด ก็จะเร่งรัดแก้ไขต่อไป

“ผู้ที่เริ่มมีอาการป่วย แต่ไม่สามารถตรวจ ATK ได้เอง หรือ อีกส่วนหนึ่งคือ คนไข้ที่ผล ATK บวก แต่ไม่ได้โทร.1330 อยากไปตรวจยืนยันกับแพทย์ เรื่องนี้ไม่แนะนำ เพราะไม่มีความจำเป็น โดยสามารถเอาผล ATK ไปที่คลินิก ARI Clinic ใน รพ. เพื่อให้แพทย์ตรวจ ATK Professional use ซ้ำให้อีกครั้ง เพื่อลดการรอผล RT-PCR ที่ต้องใช้เวลา หากผลบวก ก็จะให้เข้าสู่ HI ตามระบบต่อไป” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการตรวจหาเชื้อใน รพ.ขณะนี้ จะตรวจ ATK เป็นหลัก และจะตรวจ RT-PCR ให้กับผู้ที่มีผล ATK เป็นบวก เข้าข่ายติดเชื้อ ในรายที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง จึงต้องเข้านอน รพ. เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อและการรอผลตรวจ อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง ฉะนั้น กรณีฉุกเฉินให้ติดต่อที่สายด่วน 1669 แต่หากไม่ฉุกเฉินให้ติดต่อสายด่วน 1330

Advertisement

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ แนวทางรักษาของ สธ.จะเป็น HI ก่อน ซึ่งต่างจากระลอกก่อนที่พบว่าเชื้อเดลต้ามีความรุนแรงมากกว่า เนื่องจากประชาชนฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มากกว่าร้อยละ 80 และมีความระวังตัวมากขึ้น ใส่ใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งตัวโรคก็เบาลง ย้ำด้วยว่า หากเป็นผลบวก ATK ไม่ต้องทำ RT-PCR ซ้ำ ก็สามารถเข้า HI ได้ทันที ซึ่งจะมีอุปกรณ์ และอาหาร มีแพทย์ติดตามอาการอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เมื่ออยู่บ้านครบ 10 วัน ก็จบการรักษา อีกส่วนคือ ผู้ป่วยที่อยู่ รพ. 3-5 วัน แล้วอาการดีขึ้น แพทย์จะประเมินว่าให้กลับมา HI ได้เพื่อหมุนเวียนเตียงให้รายอื่น

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า กรณีผู้ติดเชื้อที่ HI แล้วมีอาการมากขึ้น จำเป็นต้องนำส่ง รพ. มีเกณฑ์ที่แพทย์จะพิจารณา ดังนี้ 1.ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง 2.หายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาที 3.ออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่า ร้อยละ 94 4.โรคประจำตัวกำเริบ บางรายอาการโควิดเบามาก แต่อาการของโรคร่วมกำเริบจึงต้องนำเข้า รพ. และ 5.สำหรับเด็ก จะมีอาการซึมลง ดื่มนมน้อย

“ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัส ซึ่งอาจยังมีความเข้าใจผิดในกลุ่มประชาชน ผู้หวังดี จิตอาสา ไปขอยาให้ผู้ติดเชื้อ ซึ่งแนวทางปัจจุบันออกมาแล้วว่า ผู้ที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ เว้นแต่ว่าจะมีความเสี่ยง แต่พิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรวันละ 180 เอนโดรกราโฟไลด์ติดต่อกัน 5 วัน แทน และไม่แนะนำให้รับประทานคู่กัน เพราะอาจเกิดภาวะตับอักเสบได้ ดังนั้น ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้จำเป็นกับผู้ติดเชื้อทุกรายเสมอไป” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ แล้วรับยาฟาวิพิราเวียร์จะส่งผลอย่างไรบ้าง นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า การกินยาฟาวิพิราเวียร์ มีโอกาสเกิดผลข้างเคียง ที่กลัวคือ ตับอักเสบ แม้จะไม่เกิดขึ้นมากแต่ก็เกิดได้ รวมถึงกรณีที่มีดวงตาเปลี่ยนเป็นสีฟ้า ฉะนั้น หากไม่มีอาการก็ไม่มีความจำเป็น ยิ่งกินคู่กับฟ้าทะลายโจร ทำให้มีอาการขึ้นมา ฉะนั้น ต้องซักประวัติก่อนว่า รับยาฟ้าทะลายโจรมาแล้วหรือไม่ ต้องหยุดก่อน ไม่กินคู่กัน

เมื่อถามว่า ผู้ติดเชื้อกลุ่มเขียว ที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มีโอกาสที่อาการจะมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สำหรับคนไม่มีอาการ และไม่ได้รับยา ถ้าแพทย์วินิจฉัยเร็วก็ต้องรอดูอาการอีก 2-3 วัน หากยังไม่มีอาการ ก็ไม่จำเป็นต้องรับยาฟาวิราเวียร์

“ที่ผ่านมา ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ไปมาก ทำให้คนเข้าใจว่าต้องกินยา คนเรียกร้องเข้ามาผ่าน 1330 เพราะต้องการยา ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น ซึ่งยังเน้นย้ำว่า หากเป็นอาการเล็กน้อย ให้รักษาตามอาการ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดหายเองได้ ไวรัสวันนี้เหมือนไข้หวัด แต่ที่ผ่านมา เดลต้ามีความรุนแรง ไม่มีภูมิต้านทาน ก็ลงปอด ยิ่งมีโรคประจำตัว ก็แย่ลง แต่ขณะนี้ เรารู้แล้ว ตัวมันเองก็รุนแรงน้อยลง เรามีภูมิต้านทานด้วย” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image