สธ.จับมือ อว.-ศิริราช สกัดวัณโรคในไทย เผยอนามัยโลกปลดจาก ปท.เสี่ยงแล้ว

สธ.จับมือ อว.-ศิริราช สกัดวัณโรคในไทย เผยอนามัยโลกปลดจาก ปท.เสี่ยงแล้ว

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ทางวิชาการเพื่อเร่งรัดการยุติวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝงของประเทศไทย ต่อเนื่อง จากฉบับแรกที่ร่วมลงนามปี 2561 สิ้นสุดปี 2564 ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่า ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีอีกโรคสำคัญที่เป็นความท้าทายของประเทศไทย ดังนั้น ทุกหน่วยงานจึงต้องร่วมมือกันยุติการแพร่ระบาด ให้ได้ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ และต้องจัดการไปพร้อมกับปัจจัยที่ส่งผลต่อโรค ทั้งความยากจน ความเปราะบางและชนชายขอบ ภาวะทุพโภชนาการ ไปจนถึงให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยง อาทิ เรือนจำ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และพื้นที่บริเวณชายแดน

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เอ็มโอยูฉบับนี้ เป็นบันทึกข้อตกลงต่อเนื่องจากฉบับแรก ที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ดังนั้น จึงทำเอ็มโอยูอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีสาระสำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านวัณโรคให้มีความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ 2.เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานด้านวัณโรคทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3.ร่วมมือ วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการป้องกัน ค้นหา วินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝงสู่การยุติปัญหาวัณโรค 4.สนับสนุนการค้นหา วินิจฉัย และพัฒนาระบบการจัดบริการตรวจคัดกรอง และดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝง 5.จัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝง

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ประมาณ 100,000 คนต่อปี ซึ่งตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกกำหนดว่าหากรักษาหายเกิน ร้อยละ 85 แต่การกินยารักษาวัณโรคมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ทำให้คนเป็นวัณโรคที่กำลังกินยาอยู่ส่วนหนึ่งที่กินยาต่อไม่ได้ เลิกกินยา และเสียชีวิต แต่กรมควบคุมโรค สธ. และ รพ.ศิริราชได้ร่วมกันพัฒนาระบบดูแล การกินยาของผู้ป่วยให้สามารถกินยาได้ครบตามกำหนด รวมถึงผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานที่มีประมาณ 4,000 คน และผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ส่งผลให้มีคนรักษาหายมากขึ้น อุบัติการณ์การเกิดวัณโรครายใหม่ก็ลดลง องค์การอนามัยโลกจึงรับรองให้ประเทศไทยหลุดจากการเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงติดเชื้อวัณโรค

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังไม่ถือว่าวัณโรคเป็นที่ยุติ เพราะวัณโรคเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง ไม่เหมือนโควิด-19 ที่ติดเชื้อไม่นาน แต่วัณโรคติดเชื้อเป็นปียังไม่รู้ตัวว่าติด บางรายไม่มีอาการ ทั้งนี้มีการประมาณการณ์ว่า คนไทย 1 ใน 3 มีการติดเชื้อวัณโรค ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ส่วนที่มีอาการมีประมาณ ร้อยละ 5-10 ดังนั้น เราจึงต้องร่วมมือกันเพื่อควบคุมโรคต่อ โดยกลุ่มที่ยังน่าห่วงยังเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวี คนที่ภูมิต้านทานของร่างกายไม่ดี กลุ่มผู้ติดเชื้อในเรือนจำ เป็นต้น ขอย้ำว่าคนที่กินยาครบตามที่กำหนดนั้นไม่ใช่แค่การปราบโรคให้สงบเท่านั้น แต่เป็นการรักษาให้หายขาดได้ และเป็นนโยบายของ สธ. ในการให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมตรวจดูแลผู้ป่วยในโครงการ 3 หมอ” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image