ไทยปรับรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดเฉลี่ย 14 วัน สธ.ยันสถานการณ์เริ่มทรงตัว

ไทยปรับรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดเฉลี่ย 14 วัน สธ.ยันสถานการณ์เริ่มทรงตัว

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ก่อนปรับแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 เชื้อโอมิครอนทำให้การติดเชื้อทั่วโลกสูงมากขึ้นมาระยะหนึ่ง และขณะนี้เริ่มลดลง ส่วนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทย โดยในประเทศไทย จะมีการปรับการรายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่ เป็นเฉลี่ย 14 วัน เพื่อให้เห็นความชัดเจน ซึ่งขณะนี้เฉลี่ยที่ 2 หมื่นราย ผู้ป่วยอาการรุนแรง 980 ราย ใส่ท่อหายใจ 280 ราย

“สัดส่วนที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ดูแลได้ ส่วนผู้เสียชีวิตรายใหม่วันนี้ 42 ราย อัตราป่วยตายลดลงจากเชื้อโอมิครอนระยะแรก 0.2 เหลือ 0.18 โดยเรายังคงแจ้งเตือนภัยสุขภาพระดับ 4 แนะนำการหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง ลดการเดินทาง และทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่อาการน้อยเข้าระบบรักษาที่บ้านและชุมชน (Home and Community Isolation) มีประมาณร้อยละ 70” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ปลัด สธ. กล่าวว่า สรุปได้ว่า สถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อทุกภูมิภาค ทำให้พบผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงสัดส่วนลดลง โดยเฉพาะกลุ่ม 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โรคอ้วน และผู้ไม่ได้รับวัคซีน ฉะนั้น การฉีดวัคซีนจึงยังมีความสำคัญโดยเฉพาะการฉีดเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตยังอยู่ในการประมาณการณ์ ซึ่งยังดูแลได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้คาดการณ์ในเดือนมีนาคมนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย จะเริ่มทรงตัวและลดลง ดังนั้น จะเน้นควบคุมโรคในคลัสเตอร์ กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง การควบคุมในสถานที่เสี่ยง เช่น ร้านอาหาร บาร์ เป็นต้น

Advertisement

“สถิติผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมีอัตราเสียชีวิตจากโควิด 178 ต่อล้านราย ฉีด 1 เข็ม เหลือ 112 ต่อล้านราย ฉีด 2 เข็ม ลดลงเหลือ 32 ต่อล้านราย และฉีด 3 เข็ม ลดลงเพียง 4 ต่อล้านราย ซึ่งลดลงจากไม่ได้ฉีดถึง 41 เท่า ดังนั้น วัคซีนเข็มกระตุ้นมีความสำคัญในกลุ่มเสี่ยง 608 เราจึงอยากให้ได้รับอย่างน้อย 3 เข็ม” นพ.เกียรติภูมิ กล่าวย้ำ

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์เตียงของประเทศทั้ง 13 เขตสุขภาพ พบว่า เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร ใช้เตียงแล้ว ร้อยละ 59 ของเตียงทั้งหมด เนื่องจาก ร้อยละ 41 เข้าระบบรักษาที่บ้านและชุมชน (Home and Community Isolation) ซึ่งเป็นการดูแลในยุคโอมิครอน ทั้งนี้ เตียงระดับ 3 ผู้ป่วยรุนแรง ใช้ไป ร้อยละ 21 เตียงระดับ 2.1 -2.2 ผู้ป่วยอาการปานกลาง ใช้ไปร้อยละ 20 และเตียงระดับ 1 ผู้ป่วยอาการน้อย ใช้ไปร้อยละ 67 โดยผู้ป่วยที่ต้องเข้า รพ.คือ ระดับ 2.1 2.2 และ 3 ที่เป็นกลุ่มสีส้มและแดง มีการใช้เตียงรวมๆ ประมาณร้อยละ 20 เฉลี่ยเพียง 1 ใน 5 ของศักยภาพเตียง โดยเราพยายามปรับให้กลุ่มสีเขียวให้เข้าอยู่ HI/CI นำไปสู่การบริหารสถานการณ์ให้เป็นโรคประจำถิ่นในระยะถัดไป

“เตียงในจังหวัดที่ระบาดมากใช้ไปร้อยละ 10-40 มีเพียงภูเก็ตที่เป็นจังหวัดแซนด์บ็อกซ์จึงมีการครองเตียง ร้อยละ 100 แต่มีเตียงแดงเพียง 14 เตียง ซึ่งทางเขตสุขภาพได้เข้าไปดูแลแล้ว ส่วนเตียงสีเหลืองยังมีรองรับได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

Advertisement

ปลัด สธ. กล่าวว่า ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์เตรียมสำรองไว้เพียงพอแน่นอนทั้ง 13 เขตสุขภาพและองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีสำรองไว้ถึง 16,904,718 เม็ด รวมถึงองค์การเภสัชกรรยังมีแผนจัดหาและผลิตยาเพิ่มอีก 87.6 ล้านเม็ด โดยวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ได้จัดส่งกระจายไปทุกภูมิภาคอีก 5 ล้านเม็ด และวันที่ 1 มีนาคมนี้ จัดส่งไปอีก 15 ล้านเม็ด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image