กรมสุขภาพจิตห่วงคนไทยเสพ 3 ข่าว เครียดพุ่งขึ้น 2.1 เท่า แนะแบ่งเวลารับข้อมูล

กรมสุขภาพจิตห่วงคนไทยเสพ 3 ข่าว เครียดพุ่งขึ้น 2.1 เท่า แนะแบ่งเวลารับข้อมูล

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ความเครียดและซึมเศร้าของประชาชนที่มีประวัติป่วยโรคจิตเวชเปรียบเทียบระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ กับ ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราเครียดและซึมเศร้าสูงขึ้น จากการบริโภค 3 ข่าว ได้แก่ 1.ข่าวการเสียชีวิตของดาราดังตกน้ำ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ทุกคนชื่นชอบ ประกอบกับเงื่อนงำทางคดีจึงมีคนสนใจมาก 2.ข่าวสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก และ 3.โอมิครอน ทำให้พบว่า มีความเสี่ยงเครียดสูงขึ้น 2.1 เท่า อยู่ที่ร้อยละ 3.6 จากเดิม ร้อยละ 1.7 ความเสี่ยงซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 4.8 เท่า อยู่ที่ ร้อยละ 10.1 จากเดิม ร้อยละ 2.1 จึงแนะให้ประชาชนบริโภคข่าวสารอย่างมีสติ อย่าใจจดจ่อกับข่าวสารมากขึ้น เลือกช่วงเวลาการรับข่าวสารแบบพอประมาณ ไม่ต้องติดตามทุกชั่วโมง ต้องพยามยามเสริมภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง มีการเลือกเสพข่าวสารแบบแยกแยะ เช่น แหล่งข่าวที่น่าเชื่ออย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เสพสื่อทุกอย่าง ทุกความเห็นของทุกคน เพราะการรับข่าวสารมากเกินไป

พญ. อัมพร กล่าวว่า จากการพูดคุยกับจิตแพทย์ 4 คน ที่มีการติดตามคนไข้ พบว่า อาการของผู้ป่วยน่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีจิตใจเปราะบาง ซึมเศร้า เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว บางคนมีอาการนอนไม่หลับ ซึ่งปกติก็หลับยากอยู่แล้ว หรือ หลับตาแล้วเห็นว่า การตกน้ำเป็นต้น เป็นสัญญาณที่ทำให้อาการแย่ลง ไม่มีสมาธิ เบื่อหน่าย จึงแนะให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ดูแลต้องใส่ใจ ดึงผู้ป่วยออกจากการเสพข่าวสาร และหันไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้พบว่า ในผู้ใช้บริการสายด่วน 1323 มีคนใช้บริการมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเครียด จึงเตรียมรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปหาแนวทางป้องกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image