ปลัด สธ.ชี้โควิดไทยอยู่เส้นเหลือง ของดไปที่เสี่ยง ไม่รวมกลุ่ม ยันเจอ แจก จบ ได้ยาชัวร์!

ปลัด สธ.ชี้โควิดไทยอยู่เส้นเหลือง ของดไปที่เสี่ยง ไม่รวมกลุ่ม ยันเจอ แจก จบ ได้ยาชัวร์!

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. แถลงรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่า ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 440 ล้านราย โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 14 ซึ่งจะเห็นว่า ยังมีการระบาดที่ฝั่งยุโรป อเมริกา และสูงขึ้นในแถบเอเชีย ส่วนอัตราผู้เสียชีวิตในรอบ 7 วัน ประเทศไทยยังมีอัตราต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในทวีปเอเชียนั้น เกาหลีใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย วันนี้พบผู้ป่วยเฉลี่ย 14 วัน อยู่ที่ 21,554 ราย มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,131 ราย ในจำนวนนี้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 325 ราย ซึ่งทั้งสองอัตรานี้ เพิ่มขึ้นอยู่ตลอด และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 49 ราย ทั้งนี้ มีผู้ป่วยที่ทำการรักษาอยู่ 223,414 ราย แบ่งเป็นอยู่ในระบบ HI CI และโรงพยาบาล (รพ.) สนาม 144,002 ราย ส่วนใน รพ.(อาการน้อย) 78,281 ราย

Advertisement

 

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับฉากทัศน์การคาดการณ์นั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงของเส้นสีเหลือง จึงขอความร่วมมือให้ช่วยกันทำให้อยู่ในเส้นสีเขียว โดยขอให้ประชาชนไม่ไปในสถานที่เสี่ยง ลดการรวมตัวจำนวนมาก งดเดินทางถ้าไม่จำเป็น จะทำให้เราอยู่ในเส้นสีเขียวและลดลงไป

“ส่วนสถานการณ์วัคซีน ขณะนี้ฉีดไปได้ 124,187,243 โดส โดยในกลุ่มเป้าหมายหลัก หรือผู้สูงอายุและเด็ก 5-11 ปีนั้น ในผู้สูงอายุ ฉีดเข็มที่ 1 ร้อยละ 83 เข็มที่ 2 ร้อยละ 78.6 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 30.8 ส่วนเด็กเล็ก 5-11 ปี เข็มที่ 1 ร้อยละ 15.4 และเข็มที่ 2 ร้อยละ 0.3 โดยผู้เสียชีวิตรายวันพบว่า กว่าร้อยละ 95 เป็นผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว จึงอยากขอความร่วมมือพาผู้สูงอายุไปเข้ารับวัคซีนตั้งแต่เข็ม 1, 2 และบูสเตอร์ โดส ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดูแลตอนนี้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

Advertisement

ปลัด สธ.กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การใช้เตียงในตอนนี้ พบว่า การใช้เตียงใน รพ.ทั้งหมดร้อยละ 57 โดยผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการปอดอักเสบใช้เตียงอยู่ที่ร้อยละ 22 และผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ และมีอาการหอบเหนื่อย ใช้เตียงอยู่ที่ร้อยละ 14 และผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดไฮโฟลว์ใช้เตียงอยู่ที่ร้อยละ 22 ส่วนผู้ที่มีอาการน้อยเราใช้เตียงถึงร้อยละ 66 บางพื้นที่ใช้ถึงร้อยละ 90 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมากและเกินความจำเป็น เนื่องจากโอมิครอนระบาดเร็ว ไม่รุนแรง อาการไม่เยอะ ดังนั้น ขอให้มีการลดภาระครองเตียง เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ไปดูแลคนไข้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง หรือมีโรคประจำตัว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับสายโทรศัพท์ที่โทรเข้าระบบ 1330 พบว่ามีกว่า 70,300 สาย จำนวนสายที่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ 59,614 สาย รับได้เพียง 29,688 สาย จึงทำให้มีการรอคอย และไม่ได้รับการติดต่อกลับ ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มผู้รับสายให้มากขึ้น

“ส่วน สธ.ก็มีโครงการเจอ แจก จบ สำหรับการรักษาผู้ป่วยโอมิครอน เป็นแบบผู้ป่วยนอก (OPD) หากตรวจพบว่ามีผลตรวจเอทีเคเป็นบวก สามารถไปรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกที่ รพ.ใดก็ได้ โดยทาง รพ.จะทำการประเมินความเสี่ยงต่างๆ ถ้าไม่มีภาวะเสี่ยงจะแจกยาให้แก่ผู้ป่วย และให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง (Self Isolation) และอยากให้ทุกคนมีความมั่นใจว่า เมื่อเข้าสู่ระบบผู้ป่วยนอก ท่านจะถูกบันทึกเข้าไปอยู่ระบบบริการ และสามารถติดต่อสื่อสารได้ภายใน 48 ชั่วโมง (ชม.) แรก” นพ.เกียรติภูมิ กล่าวและว่า พบว่าผู้ที่อยู่ในระบบ HI มีเพียงร้อยละ 0.5 ที่มีอาการเพิ่มขึ้น และต้องส่งกลับไปรักษาตัวต่อ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก โดยผู้ที่โทรศัพท์ไปยัง 1330 ส่วนมากอยู่ในกรุงเทพมหานคร สธ.จึงอยากช่วยให้เข้าถึงการรับบริการโดยง่าย จึงขอให้เดินทางไปตาม รพ.ต่างๆ

ปลัด สธ.กล่าวว่า ส่วนการเดินทางให้พยายามป้องกันตัวเองให้ดี สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น หรือเดินทางด้วยรถส่วนตัว เพื่อพบแพทย์และให้บริการ ซึ่ง สธ.ได้จัด รพ.ที่จะดูแลรักษา และรองรับการตรวจ ARI Clinic ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก สิงห์บุรี อ่างทอง นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา รพ.สังกัดกรมสุขภาพจิต และ รพ.สังกัดกรมควบคุมโรค โดยมีศักยภาพสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 18,650 รายต่อวัน

ทางด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ.กล่าวเสริมว่า สธ.มีนโยบายเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ โดยประชาชนสามารถเดินทางไปจังหวัดโดยรอบได้ หลังจากเจอเจ้าหน้าที่จะมีการประเมินอาการ ก็จะแจกความรู้ การดูแลตนเอง ประเมินตนเอง และแจกยากับเบอร์โทรศัพท์ หลังจากนั้นภายใน 48 ชม.จะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปประเมินประชาชนที่ติดเชื้ออีกครั้ง

“สำหรับเจอ แจก จบ นั้น เรื่องยาจะได้รับแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร และยารักษาตามอาการ ขอประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องการข้ามเขต สธ.ได้หารือไว้แล้วและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น จึงอยากให้สบายใจ และได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ทางด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับการแจกยาในระบบเจอ แจก จบ ในกลุ่มที่ไม่มีอาการ/อาการเล็กน้อยนั้น จะไม่ได้มีการแจกยาฟาวิพิราเวียร์ กับฟ้าทะลายโจร พร้อมกัน หากไม่มีอาการจะให้ฟ้าทะลายโจรตามความเหมาะสม โดยจะไม่ให้ทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน เนื่องจากมีความอันตราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามฉากทัศน์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 โอมิครอน รายใหม่ ของกรมควบคุมโรค สธ.ที่เผยแพร่เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

เส้นสีเทา ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด หากไม่มีมาตรการควบคุม ผ่อนคลายมาตรการ ลดการแยกตัว อาจพบผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 19 เมษายน ถึง 100,000 ราย

เส้นสีเหลือง หากมีมาตรการควบคุม ประชาชนร่วมมือป้องกันโรค อาจพบผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 19 เมษายน ถึง 50,000 ราย

เส้นสีเขียว แต่หากมีความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโรค จะพบสูงสุดในวันที่ 16 มีนาคม ประมาณ 27,000 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image