กระทรวงทรัพยากร เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ลดโลกร้อน ได้คาร์บอนเครดิต

กระทรวงทรัพยากร เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ลดโลกร้อน ได้คาร์บอนเครดิต

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประชาคมโลกต่างให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หลายพันธกรณีต่างมุ่งเน้นหรือเชื่อมโยงเป้าหมายและผลลัพธ์การดำเนินงานไปสู่การลดและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และการดำเนินงานตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นต้น

ซึ่งล่าสุดกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้กำหนดนโยบายการเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2566 กลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องเตรียมรับมือ

โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สูง เช่น ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และอะลูมิเนียม นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ประเภทใช้ครั้งเดียว กลุ่มสินค้าอาหารและอาหารแปรรูปอีกด้วย อีกทั้ง ตลาดสหรัฐอเมริกาที่กำลังเร่งผลักดันให้ก้าวสู่การผลิตและการบริโภคที่ลดคาร์บอนในอนาคตอันใกล้ซึ่งต้องกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างแน่นอน

Advertisement

สำหรับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายประเทศต่างกำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนเป้าหมายสูงสุด คือ แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน

โดยกลไกหนึ่งที่หลายประเทศกำลังผลักดัน เพื่อสร้างสมดุลการลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกของโลก ได้แก่ การซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” โดยนำปริมาณการลดการใช้ก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าเป้าหมายในแต่ละประเทศหรือแต่ละหน่วยงานมาเปลี่ยนแปลงให้สามารถซื้อขายได้ เปรียบเหมือนเป็นสินค้าประเภทหนึ่งเพื่อการซื้อขายผ่านตลาดกลาง โดยตลาดซื้อขายจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ (Regulatory Carbon Market) และตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)

Advertisement

สำหรับประเทศไทยได้เริ่มตื่นตัวและดำเนินการโครงการ T-VER ตั้งแต่ปี 2557 มีชื่อเต็มว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ

โดยอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับการรับรองแล้ว 275 โครงการ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่คาดว่าจะดูดซับได้กว่า 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อปี อย่างไรก็ตาม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์บนเวทีประชุมผู้นำ COP26 ในการยกระดับประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065

 

ประเทศไทยคงต้องเร่งหามาตรการเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ประกาศเจตนารมณ์ไว้ งานนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขานรับนโยบาย ประกาศความท้าทายหวังเร่งบรรลุเป้าหมายก่อนปีที่กำหนด เร่งเครื่องเดินหน้าเต็มที่ พร้อมนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานนี้หากบรรลุเป้าหมายได้อย่างที่หวัง ประเทศไทยคงได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติอย่างแน่นอน

ความหวังของประเทศไทยที่จะบรรลุเป้าหมาย คงต้องหาเครื่องมือที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีและรวดเร็ว

“ผืนป่าชายเลน” คือ ความหวังที่หลายฝ่ายได้เพ่งเล็ง หลายงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon stock) ราว 15 – 17 ตันคาร์บอนต่อไร่ ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 70 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไร่ ซึ่งมากกว่าป่าเต็งรัง ประมาณ 3-5 เท่า

ในทำนองเดียวกัน หลายประเทศต่างเร่งเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างเช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ได้ประกาศเป้าหมายใหม่ที่เคยให้คำมั่นว่าจะปลูกป่าชายเลนให้ได้ 30 ล้านต้น ในปี 2573 ให้เพิ่มเป็น 100 ล้านต้นในปี 2573 แทน นอกจากนี้ ประเทศฟิจิจะปลูกป่าชายเลนเพิ่ม 30 ล้านต้น ภายในปี 2578 มาดากัสการ์กำหนดแผนฟื้นฟูป่าชายเลนกว่า 340,000 ไร่ ภายในปี 2573 เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกระเบียบว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก พ.ศ. 2564 มี เพื่อส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งเป้าหมาย 10 ปี วางเป้าหมายพื้นที่ปลูกป่าไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่

โดยในปี 2565 เตรียมพื้นที่ปลูกแล้วกว่า 30,000 ไร่ มีภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมราว 16 หน่วยงาน และข่าวแว่วมาว่า มีหน่วยงานแสดงความสนใจและขอพื้นที่มากกว่าเป้าที่กำหนดแล้ว งานนี้นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คงต้องเร่งหาพื้นที่รองรับความต้องการที่ดูท่าจะเพิ่มขึ้นไม่หยุด ซึ่งคงเป็นผลดีต่อประเทศไทยที่จะมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นและสร้างรายได้จากการซื้อขายคาร์บอนในตลาดคาร์บอน ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image