สปสช.แจงหน่วยบริการทั่ว ปท.ปรับเกณฑ์เบิกจ่ายผู้ป่วยโควิดโอพีดี-แยกกักที่บ้าน

สปสช.แจงหน่วยบริการทั่ว ปท.ปรับเกณฑ์เบิกจ่ายผู้ป่วยโควิดโอพีดี-แยกกักที่บ้าน

วันนี้ (6 มีนาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเบิกจ่ายกรณีบริการดูแลรักษาโรคโควิด-19 ที่มีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ผ่านระบบออนไลน์ และเฟซบุ๊ก ไลฟ์ สปสช. โดยมีผู้ร่วมประชุมเกือบ 3,000 คน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศเข้าร่วม

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมการแพทย์ ได้มีการทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการในประเทศและต่างประเทศ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 กำหนดให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อตรวจ ATK กรณีมีผลบวก ให้ประเมินอาการและความเสี่ยง หากไม่มี ให้เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ Home Isolation (HI) และแยกกักตัวที่บ้านได้ ซึ่งกรณีรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ระบบจะโทรติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง หากมีอาการที่แย่ลงก็จะส่งต่อรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) ส่วนกรณีผู้มีอาการและมีความเสี่ยง รวมถึงที่บ้านไม่มีความพร้อมในการแยกกักตัว จะเข้าสู่การดูแลในระบบโฮเท็ล ไอโซเลชั่น (Hotel Isolation), ฮอสปิเทล (Hospitel) และคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) โดยไม่ต้องทำการตรวจ RT-PCR ซึ่งการตรวจ RT-PCR จะทำการตรวจเฉพาะในกรณีที่ต้องเข้ารักษาหรือส่งต่อรักษาที่ รพ.

“ส่วนการให้ยารักษานั้น ย้ำว่า ในกรณีผู้ป่วยไม่มีอาการหรือสบายดี จะไม่ให้ยาต้านไวรัส เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นต้น โดยแพทย์จะรักษาตามอาการ คือ ให้ยาฟ้าทะลายโจร ขึ้นอยู่ตามดุลพินิจของแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการ แพทย์จะพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด แต่หากมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน โดยผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยา เพราะจากข้อมูลการรักษาพบว่า เชื้อโอมิครอนนั้น ร้อยละ 80 ผู้ป่วยจะหายเองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน” พญ.นฤมลกล่าว

Advertisement

ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สปสช. กล่าวว่า ตามที่กรมการแพทย์ได้มีการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สปสช.จึงทำการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการเพื่อรองรับการให้บริการของหน่วยบริการ เริ่ม ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565 ซึ่งรายการบริการต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

Advertisement

บริการคัดกรองโควิด-19 สำหรับคนไทยทุกสิทธิ ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด การคัดกรองก่อนทำหัตถการตามที่กรมการแพทย์กำหนด และตามดุลพินิจแพทย์ เฉพาะดำเนินการภายในหน่วยบริการ ทั้งการตรวจแบบ RT-PCR ประเภท 2 ยีน อัตรา 900 บาทต่อครั้ง และประเภท 3 ยีน อัตรา 1,100 บาทต่อครั้ง การตรวจแบบ Antigen Professional ทั้งวิธี Chormatography อัตรา 250 บาทต่อครั้ง และวิธี FIA อัตรา 350 บาทต่อครั้ง

การสนับสนุนชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 แบบ ATK สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ในอัตรา 55 บาทต่อชุด โดยจ่ายให้กับหน่วยบริการ ซึ่งประชาชนสามารถรับชุดตรวจครั้งละไม่เกิน 2 ชุดต่อครั้ง โดยตรวจเว้นระยะห่างอย่างน้อย 5 วัน และรายงานผลผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย

บริการดูแลรักษาโรคโควิด-19 ที่เป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OP self Isolation) เฉพาะผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งแยกการจ่ายชดเชยค่าบริการเป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าบริการดูแลรักษาที่เป็นจ่ายแบบเหมาจ่าย 1,000 บาทต่อราย ครอบคลุมการให้คำแนะนำแยกกักตัวที่บ้าน การให้ยารักษา การประสานติดตามอาการ และการจัดระบบส่งต่อ 2.ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้นหลังครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว (บริการรองรับการติดต่อกลับ) เหมาจ่ายอัตรา 300 บาทต่อราย

กรณีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเช่นเดียวกับ HI และ CI แบบเหมาจ่าย ทั้งกรณีรักษาใน รพ.ที่เป็นหน่วยบริการในระบบ และกรณีเข้ารักษาในระบบยูเซ็ป โควิด (UCEP COVID) ในหน่วยบริการนอกระบบ รวมถึงการรักษานอก รพ. ได้แก่ HI/CI, โฮเท็ล ไอโซเลชั่น, รพ.สนาม และฮอสปิเทล เป็นต้น ครอบคลุมบริการดูแลผู้ติดเชื้อ ค่าอาหาร 3 มื้อต่อวัน อุปกรณ์ในการดูแลและติดตามสัญญาณชีพ ค่ายา และค่าเอกซเรย์ปอด หรือ Chest X-ray กรณีจำเป็น ซึ่งการจ่ายชดเชยกรณีการให้บริการรักษาตั้งแต่ 1-6 วัน จะอยู่ที่อัตรา 4,000 บาท หากมีบริการอาหารเพิ่มเป็น 6,000 บาท และบริการรักษา 7 วันขึ้นไป อยู่ที่ 8,000 บาท หากมีบริการอาหารเพิ่มเป็น 12,000 บาท

บริการผู้ป่วยนอกที่ไม่เข้าเกณฑ์ OP self Isolation จะครอบคลุมบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) และค่าเก็บตัวอย่าง ทั้ง RT-PCR, Antibody และ Antigen ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโควิด จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย และค่ารถส่งต่อผู้ป่วย รวมค่าชุด PPE และยาฆ่าเชื้อจ่ายตามจริงตามระยะทางไม่เกิน 1,400 บาทต่อครั้ง

บริการผู้ป่วยใน กำหนดจ่ายตามระบบ DRG (ระดับความรุนแรงของโรค) และจ่ายเพิ่มเติมทั้งในส่วนค่าตรวจแล็บ ค่ายารักษาเฉพาะผู้ป่วยโควิดไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย ค่าห้องดูแลรวมค่าอาหาร ตั้งแต่เตียงระดับ 1-3 ในอัตราตั้งแต่ 1,000-7,500 บาท ค่าชุด PPE อัตรา 550 บาทต่อชุด และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการและอุปกรณ์ในการป้องกันเชื้อ 300-11,000 บาทต่อวัน และค่ารถส่งต่อผู้ป่วย รวมค่าชุด PPE และยาฆ่าเชื้อจ่ายตามจริงตามระยะทางไม่เกิน 1,400 บาทต่อครั้ง

“สำหรับแนวทางการรักษาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา สปสช.ร่วมกับกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ ปรับบริการที่ต่อเนื่อง เพื่อการดูแลที่เหมาะสม และการเบิกจ่ายชดเชยที่ถูกต้อง” พญ.กฤติยากล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image