กทม.ต้อนรับเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก-โปรตุเกส พร้อมแลกเปลี่ยนการพัฒนาเมือง

กทม.ต้อนรับเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก-โปรตุเกส พร้อมแลกเปลี่ยนการพัฒนาเมือง

 

วันนี้ (8 มีนาคม 2565) ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ผู้บริหาร กทม. ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ นายยอน ทัวร์กอร์ด (H.E. Mr. Jon Thorgaard) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย และคณะ จากนั้น ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยปลัด กทม. และคณะผู้บริหาร กทม. ให้การต้อนรับ นายจูอาว บือร์นาร์ดู ดือ โอลิเวรา มาร์ติร ไวนชไตน์ (H.E. Joao-Bernardo de Oliveira Martins WEINSTEIN) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสประจำประเทศไทย และคณะ โดยผู้ว่าฯ กทม.ได้มอบกุญแจเมือง และหนังสือซุ้มเฉลิมพระเกียรติราชวงศ์จักรี (Arches Honoring the Royal House of Chaki) เป็นของที่ระลึกในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ

โอกาสนี้ ผู้ว่าฯ กทม. และ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันหารือแลกเปลี่ยนในเรื่องการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และวาระสิ่งแวดล้อมของ กทม. (Bangkok’s Green Agenda) อาทิ การจัดการพื้นที่สีเขียว โดยปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวประมาณ 7.4 ตารางเมตร (ตรม.) ต่อคน ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตรม.ต่อคน กทม.จึงพัฒนาและขับเคลื่อนให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตรม.ต่อคน ภายใน 2 ปี

Advertisement

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตเดนมาร์กและคณะยินดีให้แนะนำสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เพื่อการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะ ซึ่งเดนมาร์กได้ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะและน้ำเสียเพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อน ส่วน กทม. เดิมใช้วิธีการฝังกลบขยะทั้งหมด 100% แต่ปัจจุบันตั้งเป้าในการนำขยะไปเผาประมาณ ร้อยละ 30 เพื่อนำไปแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการฝังกลบและอีกส่วนหนึ่งจะนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงได้มีการหารือเรื่องการจัดการด้านการประหยัดพลังงานในอาคาร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พัฒนาระบบขนส่งด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าเพิ่มปั๊มสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น การนำร่องใช้เรือโดยสารไฟฟ้าในพื้นที่คลองผดุงกรุงเกษม และคลองแสนแสบ และการตั้งเป้าหมายเพิ่มภาคีเครือข่ายในการประหยัดพลังงาน

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม.และเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกส ประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันหารือในประเด็นเกี่ยวกับเขื่อนกั้นน้ำและระบบระบายน้ำ โดยเอกอัครราชทูตและคณะ จะมีการปรึกษาหารือและประสานงานกับสำนักการระบายน้ำ กทม. ในเรื่องการป้องกันน้ำท่วมและเขื่อนกั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานเอกอัครราชทูตฯ ต่อไป

Advertisement

อนึ่ง ประเทศไทย และประเทศเดนมาร์กนั้น เริ่มมีการติดต่อกันครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2164 ต่อมาได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 8 แห่งเดนมาร์ก โดยการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี การค้า และการเดินเรือ ค.ศ.1858 และในปี พ.ศ.2403 เดนมาร์กได้จัดตั้งสถานกงสุลที่กรุงเทพฯ ในขณะที่ไทยได้เปิดสถานอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปี พ.ศ.2497 จวบจนกระทั่งปี พ.ศ.2501 ไทยจึงได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับเดนมาร์กขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต ด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง ไทยและเดนมาร์กต่างมีความเห็นสอดคล้องและร่วมมือกันด้วยดีในด้านต่างๆ มาโดยตลอด ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ในปี พ.ศ.2563 การค้าทวิภาคีระหว่างไทยและเดนมาร์กมีมูลค่าถึง 760 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ.2564 การค้าทวิภาคีมีมูลค่าอยู่ที่ 640 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนความพันธ์ด้านการท่องเที่ยวนั้น ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวเดนมาร์กเดินทางมาไทยจำนวนกว่า 1.6 แสนคนต่อปี ซึ่งนับเป็นกลุ่มท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีการใช้จ่ายสูง และนิยมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เดนมาร์กจึงเป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายของไทยในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการพำนักระยะยาวและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศโปรตุเกสนั้น โปรตุเกสเป็นประเทศยุโรปที่มีความสัมพันธ์ทางด้านการทูตกับไทยมายาวนานที่สุด 510 ปี โดยเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เริ่มเข้ามาติดต่อกับไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2054 มีการถ่ายทอดศิลปวิทยาการด้านต่างๆ จากชาติตะวันตก อาทิ การเผยแพร่ศาสนา การพัฒนากองทัพ การเรียนหนังสือในโรงเรียน และวัฒนธรรมด้านอาหาร ด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง ไทยและโปรตุเกสมีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดำเนินมาด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาต่อกัน และมีความร่วมมือในกรอบพหุภาคีต่างๆ ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ปัจจุบันโปรตุเกสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทยจากกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) โดยในปี พ.ศ.2555 มีมูลค่าการค้ารวม 183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 114 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 69 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว ไทยและโปรตุเกสได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2532 ซึ่งตลาดนักท่องเที่ยวโปรตุเกสมีการขยายตัวพอสมควร แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดยุโรปอื่นๆ ตลาดนักท่องเที่ยวโปรตุเกสยังมีขนาดเล็ก

นอกจากนี้ กทม.ได้มีความสัมพันธ์เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับกรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ได้ลงนามความตกลงการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส และกรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย อีกทั้งได้มีความสัมพันธ์เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองปอร์โต สาธารณรัฐโปรตุเกส โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 ได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย และเมืองปอร์โต สาธารณรัฐโปรตุเกส และเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย และเมืองปอร์โต สาธารณรัฐโปรตุเกส รวมถึงมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองปอร์โตมาเป็นระยะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image