บัตรทองต้องรู้!! สปสช.แจงขั้นตอนรักษาโควิด ตั้งแต่ 16 มี.ค.เป็นต้นไป

บัตรทองต้องรู้!! สปสช.แจงขั้นตอนรักษาโควิด ตั้งแต่ 16 มี.ค.เป็นต้นไป

วันนี้ (16 มีนาคม 2565) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 มีนาคม 2565 เห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโควิด-19 (UCEP โควิด พลัส : UCEP Plus) โดยให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงยังสามารถเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล (รพ.) ได้ทุกแห่ง จนหาย โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนกลุ่มอาการสีเขียวสามารถเข้ารับการรักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิการรักษา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 นั้น ในส่วนของประชาชนสิทธิบัตรทอง หรือ 30 บาท หรือ สิทธิ สปสช. (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 หากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด หมายถึงผลเป็นบวกติดเชื้อโควิด-19

“หากอยู่ในกลุ่มสีเขียว หรือกลุ่มไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อย เช่น มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป, ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส, เจ็บคอ ไอ/มีน้ำมูก มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง ในกรณีนี้ท่านจะได้รับการรักษาตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คือ ผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้าน หรือ เจอ แจก จบ (OP with self isolation) หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ รักษาที่บ้าน (Home Isolation) โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และให้ไปรับการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิของท่าน ซึ่งประชาชนสิทธิบัตรทอง นอกจากหน่วยบริการประจำตามสิทธิของท่านแล้ว ท่านยังสามารถเข้ารักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวตามนโยบายยกระดับบัตรทองได้ด้วย (หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของ รพ., ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น)” นพ.จเด็จ กล่าว

ทั้งนี้ เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในระหว่างการรักษาตามแนวทางเจอ แจก จบ หรือการรักษาที่บ้าน หากมีอาการเปลี่ยนแปลง เข้าสู่กลุ่มสีเหลืองหรือสีแดง สถานพยาบาลที่ดูแลท่านจะส่งต่อไปรักษายัง รพ.ที่สามารถดูแลท่านได้ต่อไป และสามารถใช้สิทธิยูเซ็ป พลัส ได้

นพ.จเด็จ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านนี้ หลังยกเลิกยูเซ็ป โควิดในผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว จะทำให้ รพ.หรือคลินิกเอกชนที่อยู่นอกเครือข่ายหน่วยบริการของ สปสช. ไม่สามารถเบิกเงินชดเชยการให้บริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวแบบผู้ป่วยนอกและแบบดูแลที่บ้าน (HI) ได้ ดังนั้น เพื่อให้หน่วยบริการเหล่านี้ยังสามารถดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อ โดยที่ประชาชนไม่ถูกเรียกเก็บเงิน สปสช.ได้เตรียม 3 แนวทางรองรับ ทั้งการให้สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการเฉพาะด้านโควิด-19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, เบิกค่าใช้จ่ายตามมาตรา 7 ระบบฉุกเฉิน และการออกประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ โดยกำหนดให้เบิกค่าใช้จ่ายแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านตามนโยบาย เจอ แจก จบ ของ สธ.

Advertisement

“สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิบัตรทอง ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม, มะเร็ง, เบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) เด็กอายุ 0-5 ปี คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง โทรศัพท์ไปที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 18 เพื่อเข้าระบบการรักษาตามแนวทางการคัดกรองต่อไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ” นพ.จเด็จ กล่าวและว่า ส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิประกันสังคม ให้ไป รพ.ที่ลงทะเบียนไว้ (กรณีอยู่ต่างพื้นที่เข้า รพ.เครือข่ายประกันสังคมได้) และสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ เข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง โดยการรักษาจะเป็นไปตามแนวทางใหม่ของ สธ.เช่นกัน คือ ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือ เจอ แจก จบ หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือ รักษาที่บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image