รมว.สุชาติ ร่วมทีม ศก. แจงมาตรการช่วยแรงงาน-ปชช.ลดผลกระทบวิกฤตยูเครน

รมว.สุชาติ ร่วมทีม ศก. แจงมาตรการช่วยแรงงาน-ปชช.ลดผลกระทบวิกฤตยูเครน

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยระหว่างร่วมแถลงมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน–รัสเซีย ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจึงให้แต่ละหน่วยงานกำหนดมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยด่วนที่สุด ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ช่วยเหลือ โดยการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันทุกมาตรา เป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้แก่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1

“ยกตัวอย่าง หากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท สามารถลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน ได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 จากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 คือ ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาททางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 – 360 บาทต่อคนต่อเดือน” นายสุชาติ กล่าว

นอกจากนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า นายจ้าง จำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุน การผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือนเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท มาตรการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 103,620 ล้านบาท

Advertisement

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงความคืบหน้าประเด็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า กระทรวงแรงงานได้เร่งรัดติดตามการดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยหากเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเรายังอยู่ในระดับที่สูงกว่า และ การขึ้นค่าแรงในแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ที่เป็นคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ตามเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและตามหลักการของไอแอลโอ (ILO)

“ทั้งนี้ ในห้วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างและสำนักงานแรงงานจังหวัดดำเนินการสำรวจและประมวลผลค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2565 คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และกรุงเทพฯ จะจัดประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และส่งผลประชุมให้คณะกรรมการค่าจ้าง ก่อนที่จะให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นจัดการประชุมพิจารณาในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 ในกรณีมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานจะลงนามเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป” นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงมาตรการช่วยประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทั้งในส่วนของนายจ้าง และลูกจ้าง เช่น โครงการ ม.33 เรารักรักกัน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ 29 จังหวัด การลดเงินสมทบ จำนวน 5 ครั้ง นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้มีมาตรการในการรักษาระดับการจ้างตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี จนทำให้ในปี 2564 ตลาดการจ้างงานพลิกกลับเป็นบวก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 170,000 ตำแหน่ง อีกทั้ง รัฐบาลยังมีมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คือ โครงการ Factory Sandbox เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุข จนทำให้ในปี 2564 มูลค่าภาคการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการในรอบ 11 ปี หรือประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท และด้วยความห่วงใยจากนายกรัฐมนตรี จึงได้อนุมัติจัดสรรยอดวัคซีนในโครงการวัคซีนมาตรา 33 สำหรับผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะ รวมถึงกำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลผู้ใช้แรงงานที่ป่วยโควิด-19 จนนำไปสู่การจัดตั้ง ฮอสปิเทล (Hospitel) เพื่อรองรับการรักษาผู้ใช้แรงงาน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image