กรมควบคุมโรคชี้ปีนี้ฝุ่น PM2.5 แนวโน้มลดลง ยังแนะ ปชช.เช็กอากาศก่อนออกจากบ้าน

กรมควบคุมโรคชี้ปีนี้ฝุ่น PM2.5 แนวโน้มลดลง ยังแนะ ปชช.เช็กอากาศก่อนออกจากบ้าน ประกาศชื่อหรืออาการของโรคจากสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 2 มีผลแล้ว

วันนี้ (25 มีนาคม) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันการออกกฎหมายและติดตามการขับเคลื่อนกลไก ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญในการวางระบบและกลไกเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคให้กับประชาชน

นพ.โอภาสกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ ครั้งที่ 2 ของปีงบประมาณ 2565 มีความก้าวหน้าการจัดทำอนุบัญญัติภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแจ้งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพแก่ลูกจ้าง พ.ศ.2565 3.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 และ 4.เตรียมความพร้อมการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมให้ครบทุกจังหวัด ภายในปี 2565 รวมถึงติดตามแนวทางเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

นพ.โอภาสกล่าวว่า ถึงแม้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปีนี้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่กรมควบคุมโรคยังขอความร่วมมือประชาชนดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ตรวจเช็กคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ช่วยกันลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่น ไม่เผาขยะ เผาป่า หรือเศษพืชผลทางการเกษตร ลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล และเน้นย้ำการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกลไกตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยง จะได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Advertisement

ด้าน พญ.หรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปีนี้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน (ตุลาคม 2563-มีนาคม 2564 และตุลาคม 2564-มีนาคม 2565) เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกลงมาหลายช่วงกระจายในหลายพื้นที่ ประกอบกับมาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ที่ทำให้ลดการใช้ยานพาหนะและการจราจร รวมถึงการลดกิจกรรมต่างๆ ในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดทำแนวทางการรายงานการเฝ้าระวังและการสอบสวนโรค กรณีฝุ่น PM2.5 และโรคอื่นๆ ตามประกาศภายใต้ พ.ร.บ.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีการกำหนดอยู่ 2 โรค คือ 1.โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว หมายถึงโรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากหรือเป็นผลเนื่องมาจากมลพิษที่มีตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว และ 2.โรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดไปที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 24 มีนาคม 2565 มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของโรค หรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 โดยระบุว่า

โรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หมายถึง โรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากหรือเป็นผลเนื่องมาจากมลพิษที่มีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินกว่ามาตรฐานตามที่กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกิดจากโรคหรือภาวะอื่นๆ ที่มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกัน โดยมีอาการสำคัญ ดังนี้

1.หอบเหนื่อยมากขึ้นกว่าปกติ ไอมากขึ้นกว่าปกติ มีปริมาณเสมหะมากขึ้นกว่าปกติ เสมหะเปลี่ยนสี อันอาจเป็นอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีการกำเริบ (เฉียบพลัน) (Chronic obstructive pulmonary disease with (acute) exacerbation)

2.ไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด หอบเหนื่อย อันอาจเป็นอาการของโรคหืดเฉียบพลัน (Acute asthma) ทั้งนี้ อาการดังกล่าวอาจหายได้เองหรืออาจหายได้เมื่อได้รับยาขยายหลอดลม

3.เจ็บเค้นที่บริเวณอกอย่างรุนแรงเฉียบพลัน หรือขณะพักเป็นระยะเวลานานกว่า 20 นาที ซึ่งอาจเพิ่งมีอาการดังกล่าวหรือมีอาการรุนแรงขึ้น ใจสั่น เหงื่อออก เหนื่อยมากขึ้นกว่าปกติ ขณะออกแรง วิงเวียนหน้ามืดหรืออาจถึงขั้นหมดสติ หรือเสียชีวิต อันอาจเป็นอาการของโรคหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน (Acute ischemic heart diseases) หรือโรคภาวะหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นหลังจากพบภาวะหัวใจขาดเลือด (Subsequent ST elevation (STEMI) and non-ST elevation (NSTEMI) myocardial infarction)

4.ตาแดง แสบตา เคืองตา น้ำตาไหลมาก คันตา มีสารคัดหลั่งออกจากตาหรือมีขี้ตา (Ocular Discharge) อันอาจเป็นอาการของโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ (Conjunctivitis )

5.ผิวหนังมีผื่นแดง คัน ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ หรือมีขุยร่วมด้วย อันอาจเป็นอาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ ( Eczema) หรือผิวหนังที่มีผื่นบวมนูนแดง (Wheal and Flare) อันอาจเป็นอาการของโรคผื่นลมพิษ (Urticaria)

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image