กทม.ย้ำ! โซนจัดสงกรานต์ 1 คน/4 ตรม. พื้นที่สาธารณะห้ามเล่นน้ำ-ประแป้ง-ปาร์ตี้โฟม

กทม.ย้ำ! โซนจัดสงกรานต์ 1 คน/4 ตรม. พื้นที่สาธารณะห้ามเล่นน้ำ-ประแป้ง-ปาร์ตี้โฟม

วันนี้ (25 มีนาคม 2565) พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ว่า กทม.โดยสำนักอนามัย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการจัดงาน และการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ทางราชการและ กทม. กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติได้และกิจกรรมที่ต้องงดดำเนินการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

“ขณะเดียวกัน ได้สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือของผู้ประกอบการ ผู้จัดงาน รวมถึงประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนร่วมอนุรักษ์และสืบสานประเพณีสงกรานต์แบบไทย เช่น การจัดพิธีสรงน้ำพระ ทำบุญที่วัด รวมถึงกิจกรรมทางศาสนาอื่นๆ เช่น การจัดพิธีรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ตามประเพณีนิยม หากทำได้ให้เตรียมอุปกรณ์ไปเอง โดยเน้นความปลอดภัยและการปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention มาตรการ COVID Free Setting และมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19″ พญ.ป่านฤดี กล่าว

ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำนักการแพทย์ ได้กำชับพื้นที่ที่จัดงานสงกรานต์ให้จัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร (ตรม.) ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน

“สำหรับพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม หลังเสร็จสิ้นงานสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน หลีกเลี่ยงพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หากมีอาการสงสัยติดเชื้อให้ตรวจ ATK และพิจารณามาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ตามความเหมาะสม” นพ.สุขสันต์ กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.สุขสันต์ กล่าวว่า ยังได้เชิญชวนประชาชนร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีสงกรานต์แบบไทย ได้แก่ สรงน้ำพระในบ้าน กราบขอพรผู้ใหญ่ในที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง ไม่หนาแน่น หรือคับแคบ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน เลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน ทำบุญที่บ้านแทนการเดินทางไปวัด เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของโรค

ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรได้รับวัคซีนให้ครบ และห้ามผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงร่วมกิจกรรม สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา เข้าร่วมงานสงกรานต์ และกลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และให้ประเมินความเสี่ยงของตนเอง หากมีอาการ หรือมีความเสี่ยง ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงาน หรือให้พิจารณาตรวจ ATK ก่อนเดินทางร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง อีกทั้งขณะเดินทางโดยขนส่งสาธารณะให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ งดรับประทานอาหารและงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับผู้จัดงาน และกิจการ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์ให้ลงทะเบียนผ่านระบบ TSC2 Plus และประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting ได้แก่ การจัดกิจกรรมพิเศษ อาทิ แสดงคอนเสิร์ต ดนตรี งานอีเวนต์ งานเทศกาล มหกรรม การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ศาสนสถาน ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image