กทม.เตือนคนกรุง เตรียมรับมือพายุฤดูร้อนวันนี้-28 มี.ค. ระดม จนท.เฝ้า 24 ชม.

กทม.เตือนคนกรุงเตรียมรับมือพายุฤดูร้อนวันนี้-28 มี.ค. ระดม จนท.เฝ้า 24 ชม.

วันนี้ (27 มี.ค.65) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งเตือนว่า ประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 27-28 มีนาคม 6565 ซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้รับผลกระทบในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง นั้น กทม.ได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ และอุปกรณ์ในการกู้ภัยต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานในสังกัดเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ นอกเหนือจากแผนตัดแต่งต้นไม้ประจำเดือนที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น สวนสาธารณะ สวนหย่อม ถนน และสถานที่สาธารณะ โดยให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ใหญ่ทั้งในเรื่องกิ่งแห้ง กิ่งผุ หรือต้นไม้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกลมพายุพัดหักโค่น

“หากพบไม่มั่นคงแข็งแรง ให้แก้ไขตัดแต่งทันที ส่วนต้นไม้ที่อยู่บริเวณถนนสายหลัก สายรอง ริมทางสัญจร หรือใกล้บ้านเรือนประชาชน หากพบพุ่มหนาทึบต้านลม ให้ดำเนินการตัดแต่งสางโปร่งอย่างถูกต้องตามหลักรุกขกรรม ก่อนจะถึงวันที่ 27-28 มีนาคมนี้ เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสียหายและอันตรายที่อาจมีต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” นายขจิตกล่าว

นอกจากนี้ ปลัด กทม.กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมแก้ไขหากเกิดกรณีกิ่งไม้หัก ต้นไม้ล้ม กีดขวางทางสัญจร สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยเร่งด่วนพร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ทันทีหากมีกรณีต้นไม้หักโค่น หรือให้การช่วยเหลือ โดยกำชับให้ตรวจสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ และยานพาหนะ ให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานได้ทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงการประสานความร่วมมือในการตรวจแนะนำให้เจ้าของอาคารตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน

นายขจิตกล่าวว่า พร้อมทั้งกำชับเจ้าของป้ายขนาดใหญ่ ดำเนินการตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย สำหรับป้ายถูกกฎหมายแต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขหรือให้รื้อถอน หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการรื้อถอน

Advertisement

“ส่วนด้านการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ ได้เตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังสภาพอากาศ การพยากรณ์อากาศแบบจำลองเส้นทางพายุ จากกรมอุตุนิยมวิทยา การตรวจสอบกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ ความพร้อมของเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) เข้าพื้นที่ขณะที่มีฝนเริ่มตก โดยการตรวจสอบเร่งระบายน้ำในจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังรวมถึงบริเวณทางอุโมงค์ทางลอดต่างๆ พร้อมทั้งการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เจ้าหน้าที่ควบคุมสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ ส่วนความพร้อมด้านระบบระบายน้ำ ได้มีขุดลอกท่อระบายน้ำคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช ลดระดับน้ำในคูคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 316 แห่ง” นายขจิตกล่าว

ปลัด กทม.กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เพื่อรองรับสถานการณ์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิก บอลลูนไลท์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ ในการติดตั้งและตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และการจัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ติดตั้งใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม รวมถึงการประสานงานหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ แผนบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม รวมถึงแผนเผชิญเหตุ CPX ที่ได้มีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลร่วมกัน อีกทั้งประสานงานการแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ อาทิ โครงการระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดีตั้งแต่แยกดินแดงถึงฐานทัพอากาศ และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ (รฟม.)

“สำหรับช่องทางการแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ฝนเพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยผ่านช่องทางที่ http://dds.bangkok.go.th/ ,www.prbangkok.com, Facebook:@BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์และแอพพลิเคชั่น กทม. Connect หรือแจ้งปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร 0-2248-5115 และสายด่วน 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากประชาชนพบเห็นเหตุเพลิงไหม้หรือเหตุสาธารณภัยอื่นๆ สามารถแจ้งเหตุมาทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายขจิตกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image