แพทย์เตือนผู้ติดเชื้อโควิดใช้ยาฟาวิฯ ไม่ถูกต้อง เสี่ยงตับ ไต พัง! แนะไม่มีอาการ ไม่ต้องกิน

แพทย์เตือนผู้ติดเชื้อโควิดใช้ยาฟาวิฯ ไม่ถูกต้อง เสี่ยงตับ ไต พัง! แนะไม่มีอาการ ไม่ต้องกิน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงชี้แจงถึงแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล (รพ.) กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า สำหรับแนวทางเวชปฏิบัติฯ บุคลากรทางการแพทย์นั้น ได้มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอาจารย์แพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิคอยพิจารณาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งฉบับล่าสุดได้มีการปรับปรุงครั้งที่ 21 ณ วันที่ 22 มีนาคม 2565 โดยสถานการณ์ขณะนี้ พบว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แพร่และติดได้ง่าย แต่ไม่เกิดอาการรุนแรง จึงต้องปรับแนวทางให้สอดคล้อง

นพ.มานัสกล่าวว่า การปรับแนวทางล่าสุด มีประเด็นสำคัญในกลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย และข้อบ่งชี้ในการใช้ยาต้านไวรัสที่มีการพัฒนา ดังนี้

1.กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี จะรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือการแยกกักตัวที่บ้าน หรือสถานที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจของแพทย์ ที่สำคัญ ไม่ให้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัส เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยา

2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด คือ ไม่เกิน 5 วัน หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

Advertisement

“สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ต้องขอให้เน้นย้ำเรื่องการให้ยา โดยการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ มีข้อควรระวังในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะไตรมาสแรก เพราะอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาการทารกในครรภ์ นอกจากนั้น ในกลุ่มมีปัญหาเรื่องตับ ยาฟาวิพิราเวียร์มีผลได้ และยังมีผลต่อการระคายเคืองทางเดินอาหาร รวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์ยังทำให้กรดยูริกสูงขึ้น ซึ่งคนไข้ที่มีปัญหากรดยูริก จะทำให้ตับ ไต มีผลเสีย ตัวยูริกในร่างกายสูงขึ้น จึงขอย้ำเน้นประชาชนต้องพิจารณาตรงนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นแนวทางเวชปฏิบัติฯที่ออกมา” นพ.มานัสกล่าว

นพ.มานัสกล่าวถึงแนวทางการให้ยาในแต่ละรายว่า เชื้อโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัส ซึ่งหากได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็จะมีภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพ พักผ่อนเพียงพอ ก็ทำให้ภูมิคุ้มกันเราดีได้ ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี ที่ทำให้ไวรัสลงปอดนั้น เราจัดกลุ่มเสี่ยง 607 บวกหญิงตั้งครรภ์เป็น 608 โดยกลุ่มนี้ อย่างผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และยิ่งมีโรคประจำตัว แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยาได้ แต่ก็ต้องระวังเรื่องการรับประทานยา เพราะอย่างยาที่รับประทานประจำ จึงต้องปรึกษาแพทย์ รวมถึงการรับประทานยาที่มีผลต่อกรดยูริกให้สูง หรือทั้งหญิงตั้งครรภ์ก็จะต้องไม่ให้ยาในไตรมาสแรกเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ต้องปรึกษาแพทย์

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. กล่าวย้ำว่า ขอยืนยันว่า สธ.มียาเตรียมพร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยทุกคน ที่มีความจำเป็นต้องได้รับยา เพราะไม่ใช่ทุกรายต้องได้รับยา โดยแพทย์จะวินิจฉัยและพิจารณาตามอาการ อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ทุกคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) เข็มที่ 3 ขอให้ไปฉีด เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันมาสู้กับเชื้อได้ ซึ่งหากอาการไม่รุนแรง ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ตัววัคซีนจะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และกำจัดเชื้อได้ภายใน 5 วัน เมื่อครบ 5 วันให้ตรวจ ATK อีกครั้ง หากเป็นผลลบ แสดงว่าร่างกายที่ได้รับวัคซีนขจัดเชื้อได้แล้ว

Advertisement

“เรามียาหลายตัว ทั้งฟ้าทะลายโจร ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ รวมถึงยาฉีดอย่างแพกซ์โลวิด ที่มีการลงนามในสัญญาแล้ว แต่สิ่งสำคัญขอให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเป็นดีที่สุด เพราะยาบางตัวก็ทำลายตับ ไตได้ แม้แต่ยาพาราเซตามอล หากกินมาก กินผิดวิธีก็ส่งผลต่อตับ ทำตับล้มเหลวได้เช่นกัน” นพ.ธงชัยกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image