สธ.ย้ำ! รพ.ต้องรับกลุ่ม 608 รักษาโควิด ชี้อาการสีเหลืองไม่มีสิทธิปฎิเสธ

สธ.ย้ำ! รพ.ต้องรับกลุ่ม 608 รักษาโควิด ชี้อาการสีเหลืองไม่มีสิทธิปฏิเสธ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงแนวทางการดูแลรักษาโรคโควิด-19 ในกลุ่ม 608 ว่า ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างมาก ทำให้การเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตอาจจะแกว่งตัวในช่วงนี้สักระยะ อย่างไรก็ตาม พบว่าบางรายที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกอาจจะไม่ได้เข้ารักษาในโรงพยาบาล (รพ.) สำหรับวันนี้รายงานเสียชีวิต 92 ราย เป็นนิวไฮของระลอกการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน โดยเป็นกลุ่ม 608 มากถึงร้อยละ 93

“ทั้งนี้ ขอชี้แจงเรื่องแนวทางการดูแลรักษาว่า กลุ่ม 608 คือ สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ถือเป็นกลุ่มสีเหลือง หากติดเชื้อโควิด-19 สามารถใช้สิทธิยูเซ็ป พลัส (UCEP Plus) เข้า รพ.ได้ทุกแห่ง จะไป รพ.เอกชน ก็ได้ ซึ่งตามกฎหมาย รพ.ไม่มีสิทธิปฏิเสธคนไข้” นพ.สมศักดิ์กล่าว และว่า สำหรับสถานการณ์เตียงโควิด-19 สีเหลือง คือ เตียงระดับ 2.1 และ 2.2 ภาพรวมพบว่า ทุกเขตสุขภาพมีเตียงเพียงพอ หากกลุ่ม 608 ต้องนอนรักษาใน รพ.ก็สามารถทำได้

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า ส่วนรายจังหวัดนั้น หากดู 10 จังหวัด ที่ติดเชื้อสูงสุด ก็ยังมีเตียงระดับ 2.1 และ 2.2 เพียงพอ ยกเว้นบางจังหวัดที่อาจมีการตึงตัวบ้าง เช่น จ.สงขลา ที่เตียงสีเหลืองมีอัตราการครองเตียงเกิน ร้อยละ 50 ขึ้นไป ซึ่งผู้ตรวจราชการ สธ.ต้องบริหารจัดการ ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือ รพ.ทุกภาคีเครือข่ายช่วยกันรับผู้ป่วยกลุ่ม 608 ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายออกมาแล้ว และหากเตียงเริ่มตึงต้องขยายเตียง

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องยารักษานั้น ตามแนวทางการรักษาฉบับล่าสุด หากเป็นกลุ่มมีอาการเล็กน้อย แต่ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีความเสี่ยงรุนแรง พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มยาให้เร็วที่สุด ส่วนมีอาการรุนแรงสามารถพิจารณาให้เรมดิซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิดได้ ซึ่งได้กระจายยาโมลนูพิราเวียร์ไป รพ.ต่างๆ แล้ว 5 หมื่นคอร์สการรักษา ส่วนแพกซ์โลวิดอีก 5 หมื่นคอร์สฯ จะกระจายก่อนเทศกาลสงกรานต์

Advertisement

“วัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงได้ รวมถึงในเด็กด้วยที่เริ่มมีการเสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้น ถ้าเข้าเกณฑ์ฉีดวัคซีนก็ให้ไปฉีด และช่วงสงกรานต์ที่กลับไปเยี่ยมผู้สูงอายุ เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรค อย่าเพิ่งจัดงานสัมผัสใกล้ชิดที่ถอดหน้ากากมากๆ จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ โอกาสเจออาการรุนแรงก็น้อยลง” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีการใช้เตียงระดับ 1 จำนวนมาก เช่น จ.ชลบุรี เกินร้อยละ 100 จะกระทบการเข้าถึงเตียงของผู้ป่วยกลุ่ม 608 หรือไม่ เพราะบาง รพ.ก็ไม่รับกลุ่ม 608 นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จ.ชลบุรี ที่เกินร้อยละ 100 คือ เตียงระดับ 1 สีเขียว ซึ่งอาจมีส่วนของศูนย์พักคอยในชุมชน (CI) และโฮเทล ไอโซเลชั่น (Hotel Isolation) ด้วย ส่วนเตียงระดับ 2 และ 3 ไม่มีปัญหา

“ส่วน จ.สงขลา มีปัญหาเตียงระดับ 3 ที่มากกว่าร้อยละ 90 ต้องขอความร่วมมือ รพ.เอกชน รพ.มหาวิทยาลัย ช่วยกันรับคนไข้ ส่วนการรับผู้ป่วยเตียงสีเขียว หากไม่มีข้อบ่งชี้ไม่อยากให้นอน รพ. ซึ่งสามารถใช้การรักษาที่บ้านได้ แต่เราเข้าใจ เพราะไม่ได้มีแค่มิติทางการแพทย์ แต่มีเรื่องเบิกประกันที่อาจมีข้อกำหนดต้องตรวจ RT-PCR หรือนอนใน รพ. ก็พยายามยืดหยุ่นตรงไหนที่แมตช์ความต้องการ แต่ต้องเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพเป็นสำคัญ โดยย้ำว่ากลุ่มสีเขียวไม่ควรนอนเตียงระดับ 2 และ 3″ นพ.สมศักดิ์กล่าว และว่า สำหรับกลุ่ม 608 มีความเสี่ยงจะป่วยหนัก รุนแรง และเสียชีวิต จึงเปิดให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มอาการสีเหลืองใช้ยูเซ็ป พลัส ได้ และแอดมิตไว้ได้ก่อน ซึ่งการจะเข้านอน รพ.เบื้องต้นกลุ่ม 608 มีสิทธิที่จะนอนตามกฎหมาย ส่วนจะนอนหรือไม่นอนอาจให้แพทย์ประเมินร่วมกับคนไข้ ดูประวัติเฉพาะราย เพราะบางส่วนก็คิดว่าแข็งแรงดี ไม่อยากนอน รพ. ก็ขอให้เป็นการประเมินร่วมกับแพทย์

เมื่อถามว่า กรณีผู้ป่วย 608 ติดโควิด-19 แต่ รพ.กลับไม่ให้เข้ารักษา เนื่องจาก รพ.มองว่าไม่มีอาการ แข็งแรงดี ทั้งๆ ที่บางรายมีโรคประจำตัว นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ตามเกณฑ์ยูเซ็ป พลัส กลุ่มสีเหลืองเข้ารับการรักษาใน รพ.ได้ ซึ่งกลุ่ม 608 เป็นกลุ่มมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิต แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ว่า สามารถรักษาใน รพ.ได้หรือไม่ หรือสามารถรักษาที่บ้าน เพราะบางรายอาการแข็งแรง แม้ป่วยโควิด-19 และไม่อยากนอน รพ. จึงขอให้แพทย์ร่วมประเมินกับคนไข้ว่า มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ทั้งนี้ โดยหลัก รพ.ปฏิเสธไม่ได้ หากเป็นไปตามเกณฑ์ยูเซ็ป พลัส แต่หากเตียงเต็มก็ต้องประสานเครือข่ายในพื้นที่

ต่อข้อถามว่า กรณี รพ.รับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวระดับ 1 ให้ครองเตียงใน รพ.จะมีการกำชับให้รับเฉพาะกลุ่มสีเหลืองหรือไม่ เพราะอาจส่งผลเตียงไม่พอในอนาคตหรือไม่ นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ในทางการแพทย์ หากไม่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องนอน รพ. ก็ควรรักษาที่บ้านได้ เพียงแต่มีเรื่องประกันเข้ามา ซึ่งก็เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน แต่ขอย้ำว่า คนไข้สีเขียวไม่ต้องนอน รพ.

ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ย้ำว่ากลุ่ม 608 ควรประเมินกับแพทย์ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะนอนหรือไม่นอน รพ. เพราะไม่รู้เงื่อนไขของแต่ละคน แต่หากอยากนอน รพ.จริง รพ.ปฏิเสธไม่ได้ หากเตียงเต็มจริงๆ ก็ต้องพูดคุยกับเครือข่าย อย่าง รพ.ของกรมการแพทย์ เราก็มีให้กลุ่ม 608 มานอนก่อน หากประเมินแล้วดีค่อยให้กลับบ้าน

เมื่อถามถึงการเพิ่มเตียงจะเพิ่มอย่างไร นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า หากอัตราครองเตียงระดับ 2.1 ขึ้นไปเกินร้อยละ 80 ก็ต้องขยายเตียง โดยจะเน้นในเตียงระดับ 2.1 ขึ้นไป ซึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนเทศกาลปีใหม่ เคยขอให้ลดบริการปกติร้อยละ 15-20 ใช้บุคลากรกับเตียงไปทำโควิด-19 ซึ่งส่วนหนึ่งร่วมมือ อีกส่วนรอดูสถานการณ์ เพราะตอนนั้นการใช้เตียงไม่มาก

“แต่ช่วงนี้ต้องขอเครือข่ายร่วมมือ ถ้าเตียงระดับ 2 และ 3 เริ่มตึง ก็ต้องขยาย เพราะระดับ 1 พยายามไปใช้บริการเจอแจกจบ (OPSI) เป็นหลัก รวมถึงยังมี CI และโฮเทล ไอโซเลชั่น ซึ่งตอนนี้ก็เห็นใจ เพราะถ้ายังไม่ถึงร้อยละ 80 บางส่วนก็ยังไม่อยากขยาย เพราะทุกเตียงที่ขยายคือการสูญเสียของโรคอื่น ที่ต้องเลื่อนนัดผ่าตัด ฯลฯ ก็ต้องคำนึงเรื่องพวกนี้ด้วย” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ขณะที่ นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เด็กเล็กติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และนายกฯเป็นห่วงกลุ่มนี้เช่นกัน จึงถือเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการรักษาใน รพ. จึงขอให้ รพ.ทุกแห่ง รับเด็กเล็กที่ป่วยโควิด-19 ไว้เพื่อดูอาการด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image