สสน.คาด หนาวชั่วคราวเดือนเมษา แค่ปัจจัยหนึ่งของภาวะโลกร้อน

สสน.คาด หนาวชั่วคราวเดือนเมษา แค่ปัจจัยหนึ่งของภาวะโลกร้อน

เมื่อวันที่ 4 เมษายนา นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นความวิปริตของภูมิอากาศ แต่เป็นเรื่องของความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมา และเรื่องนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี 2559 ที่ตอนนั้น ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมา โดยเข้าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวกว่าภาคเหนือ ซึ่งขัดกับความรู้สึกของผู้คนที่มักจะรู้สึกว่า ภาคเหนือจะหนาวกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อถามว่า การที่ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาและทำให้ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน ถือเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อน หรือไม่ นายสุทัศน์ กล่าวว่า ถือเป็นผลโดยรวมในปัจจัยหนึ่งของภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นก็ไม่สามารถเจาะจงลงไปได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นอย่างไรบ้าง สำหรับภาวะ โพลาร์ เวอร์เท็ก (Polar Vortex) ไม่น่าจะเกี่ยว หรือเกี่ยวน้อยมาก ภาวะดังกล่าวนี้ หากจะเกิดขึ้นได้ ก็น่าจะอยู่ได้แค่ที่ยุโรป หรือที่ปักกิ่ง ประเทศจีน ไม่น่าจะมาถึงประเทศไทย

“การที่เราต้องเจอกับลมหนาวในช่วงฤดูร้อนนั้น ตอนนี้ ผมกำลังให้ทีมนักวิเคราะห์ ของ สสน.รวบรวมข้อมูลอยู่ว่า สาเหตุปัจจัยหลักเกิดจากอะไรกันแน่ แต่เบื้องต้นในเวลานี้ เราคาดการณ์กันว่า น่าจะเกิดจาก 1 ใน 3 ของดัชนี ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร มีที่ผลต่อประเทศไทย นั่นคือ ค่า PDO (Pacific Decadal Oscillation) กล่าวคือ ดัชนีมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ตั้งแต่ 20 องศาเหนือขึ้นไปที่ปีนี้มีค่าเป็นลบมาก ซึ่งค่าลบหมายถึงอุณหภูมิของทะเลฝั่งเอเชียจะอุ่นกว่าปกติ โดยค่า PDO ที่ลบมาก ทำให้ลมตะวันตกแรงขึ้นจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดฝนตกและอุณหภูมิลดลง เพราะว่าจะมีการนำเอาความชื้นจากทะเลอันดามัน และเป็นผลโดยอ้อมให้เกิดอากาศหนาว” นายสุทัศน์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image