จ่าย (เงิน) อย่างเดียวไม่พอ สปสช.ต้องทำให้ ปชช.เข้าถึงบริการ

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กลายเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานผ่าน “สายด่วน สปสช.1330” หรือไลน์ @nhso เพื่อให้คำปรึกษา หาเตียง ติดตามอาการ กระทั่งสื่อสารกับประชาชนถึงแนวปฏิบัติตัวทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังการติดเชื้อโควิด

โดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว สปสช. คือ กลไกทางการเงินที่ช่วยสนับสนุนให้หน่วยบริการจัดบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในมุมมองของ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.ต้องทำมากกว่านั้น

“หากจะกล่าวถึงบทบาทของ สปสช.ว่าเป็นเพียงกลไกการเงินอย่างเดียวอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะแท้จริงแล้วหน้าที่หลักของ สปสช.คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ตามความจำเป็น และต้องไม่ล้มละลายจากความเจ็บป่วยเป็นเป้าหมายสูงสุดของหน่วยงาน โดยอาศัยกลไกทางการเงินไปขับเคลื่อนให้หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลให้บริการกับประชาชน ถ้าถามว่า ช่วงที่ผ่านมาเราทำเกินหน้าที่มากไปไหม มองว่าตราบใดที่ผู้ป่วยยังไม่ได้รับบริการ การทำให้เขาได้รับบริการเป็นหน้าที่ของเรา จะให้เราจ่ายเงินแล้วจบหน้าที่ แบบนี้ใครก็พูดได้ แต่ในความเป็นจริงต้องมองลึกลงไปว่า เมื่อจ่ายเงินไปแล้ว จะทำอย่างไรให้หน่วยบริการให้บริการกับประชาชนจริง” นพ.จเด็จกล่าว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เลขาธิการ สปสช.ย้ำเสมอคือ สปสช.ต้องไม่ลงไปให้บริการเอง แต่เป็นผู้สร้างกลไกที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก เช่น กรณีนโยบายการดูแลแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถัดจากนั้นเพียง 1 วัน หน่วยบริการเกิดคำถามว่า แล้วใครจะจ่ายค่าบริการให้

Advertisement

สปสช.ในฐานะกลไกทางการเงินก็ต้องรีบประกาศแนวทางการเบิกจ่าย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ไม่รับผู้ป่วย เรียกเก็บเงินกับผู้ป่วย ฯลฯ

“เราเน้นย้ำกันภายในว่า ไม่ควรทำเกินหน้าที่ หรือเกินกฎหมายกำหนด เพราะเราผ่านวิกฤตมามาก เราโดนตรวจสอบหนักมาก เพราะถูกเข้าใจว่าเข้าไปทำเกินบทบาทหลายเรื่อง” นพ.จเด็จระบุ

นอกจากนี้ ในภาวะวิกฤตที่ผ่านมา สปสช.ทำหน้าที่จากช่องโหว่ที่เกิดขึ้นของการให้บริการ เพราะถ้า สปสช.ไม่เป็นกลไกตรงนี้ จะไม่มีหน่วยงานไหนทำ เนื่องจากหน่วยงานอื่นต่างมีหน้าที่ของตนเอง อาทิ สายด่วน 1668 ที่เป็นสายด่วนเฉพาะกิจที่พัฒนามาจากสายด่วนสำหรับรักษาโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ส่วนสายด่วน 1669 ออกแบบมาเพื่อส่งผู้ป่วยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมถึงสายด่วน 1506 จะรับเพียงผู้ป่วยในระบบประกันสังคม ดังนั้น ในเชิงกฎหมาย หากประชาชนไม่มีสิทธิส่วนไหน ก็ต้องเข้ารับบริการโดยกลไกสายด่วน 1330 สปสช.

Advertisement

@ไม่ได้ถังแตก แต่ต้องใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดขึ้น

นพ.จเด็จบอกว่า ยูเซ็ป (UCEP) คือการเข้ารักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) เอกชน นอกระบบฟรี 72 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยรายนั้นต้องมีภาวะวิกฤต โดยนิยามวิกฤตส่วนนี้ตามกฎหมาย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดไว้ จากนั้นก็มีการเพิ่มโรคโควิดเข้าไปเป็นยูเซ็ป โควิด (UCEP COVID) เพราะครั้งหนึ่งผู้ติดเชื้อจะป่วยถึงระดับภาวะวิกฤต อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปและเชื้อโอมิครอนไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 90 เกิดอาการรุนแรงมากจนเข้าขั้นวิกฤต สธ.จึงได้ประกาศยกเลิกยูเซ็ป โควิด และเพิ่มยูเซ็ป พลัส (UCEP Plus) เข้ามาแทนที่

“หลักการคือ ใช้อาการเป็นเกณฑ์กำหนด ซึ่งสอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงที่เป็นเกณฑ์คัดกรองอยู่แล้ว ดังนั้น ความแตกต่างจึงอยู่ที่ยูเซ็ป พลัส จะไม่ครอบคลุมผู้ป่วยสีเขียวเท่านั้น แต่มีประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจ คิดว่าไม่มีเงินจ่าย และจะลอยแพไม่ทำการรักษาแล้ว ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่ เพียงแต่ สปสช.ในฐานะกลไกทางการเงินก็ต้องจ่ายเงินอย่างชาญฉลาดมากขึ้นตามไปด้วย ช่วงหนึ่งมีข่าวว่าทั้ง รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน บางแห่งรับผู้ป่วยสีเขียวอย่างเดียว แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะน้อยกว่าสีแดง เพราะถ้าเทียบภาระงานแล้ว น้อยกว่ามาก ดังนั้น หน่วยบริการก็อยากรับแต่ผู้ป่วยสีเขียว จนบางที่เตียงเต็ม แน่นอน สีแดงมีจำนวนรองรับน้อยกว่า ก็เต็มเร็ว จึงเกิดปรากฏการณ์ผู้ป่วยเสียชีวิตกันที่บ้าน สปสช.ก็หาทางปรับเกณฑ์เบิกจ่าย โดยลดค่าใช้จ่ายสีเขียวลง และไปเพิ่มให้กับผู้ป่วยสีแดง เพื่อใช้กลไกไปกระตุ้นให้หน่วยบริการใช้ทรัพยากรไปกับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.จเด็จกล่าวว่า สปสช.ได้พยายามทำข้อตกลงกับ รพ.เอกชน นอกระบบ ในการรักษาผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 100 แห่ง ที่กำลังจะเข้าระบบนี้โดยเกณฑ์เบิกจ่ายมีอยู่ว่า ถ้ารับผู้ป่วยสีเขียวจะอยู่ในอัตราเดียวกับที่ สปสช.จ่ายให้กับ รพ.ในระบบ คือ รักษาแบบผู้ป่วยนอก 1,000 บาทต่อคน ส่วน Home Isolation (HI) เหมาจ่าย 6,000 บาทต่อคน ไม่เกิน 6 วัน ในกรณีที่เกิน 6 วันขึ้นไป จะเป็น 12,000 บาทต่อคน ซึ่ง รพ.เอกชน ก็ยอมรับกันได้

@พร้อมรับสถานการณ์ใช้ AI ตรวจสอบการจ่ายเงิน

สำหรับการปรับตัวกับสถานการณ์โควิดขณะนี้ มีการทำกระดานสรุปข้อมูล Dashboard ไว้ในกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มข้อมูลคนไข้ กลุ่มการติดตามอาการ หรือสถานการณ์โรคที่เปลี่ยนไปทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศ เพื่อสำรวจมาตรฐานที่ควรจะเป็น โดยดูจากกรมการแพทย์ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ฯลฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในอนาคต

“ช่วงหลังสงกรานต์ เราก็ดูฉากทัศน์ของ สธ.ที่บอกว่า ผู้ติดเชื้อจะมากถึง 1 แสนคน เราก็เตรียมไว้รองรับ ซึ่งไม่รู้จำนวนจะสูงขนาดนั้นหรือไม่ เพราะถ้าเรารองรับไม่ได้ มูลค่าความเสียหายมากกว่าการที่เราไม่ได้เตรียมเผื่อไว้แน่นอน ไม่ใช่ว่าเรามีทรัพยากรเหลือ แต่เราคาดการณ์ให้ถูกเป๊ะเลยไม่ได้ เพราะในช่วงเดือนมกราคม ที่คาดการณ์จำนวนสายไว้ประมาณ 3 หมื่นคู่สาย เท่าช่วงเชื้อเดลต้าระบาด แต่เอาเข้าจริง ทะลุไปถึง 7 หมื่นสาย ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก อย่างไรก็ตาม ยังต้องการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นอีกจำนวนมาก เพราะหลายอย่างไม่สามารถทำเองได้ ต้องอาศัยการบูรณาการ โดยจากนี้อาจต้องขอความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งจากรัฐ และโดยเฉพาะเอกชน เพราะเห็นได้จากสถานการณ์ที่ผ่านมาว่าตื่นตัวมากในการเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งทำให้มีกำลังในการขยายบริการได้มากขึ้น” นพ.จเด็จระบุ

เลขาธิการ สปสช.บอกว่า ขณะนี้การเบิกจ่ายของ สปสช.เปลี่ยนเป็นกระบวนการ “ตรวจก่อนจ่าย” เพราะว่าเวลาจ่ายเงินก่อน มักถูกตำหนิว่าจ่ายไปไม่ได้ตรวจสอบว่าประชาชนได้รับบริการจริงหรือไม่ บริการมีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งการจะดึงเงินคืนจากหน่วยบริการไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้น จึงเปลี่ยนระบบใหม่โดยนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย เช่น Artificial Intelligence (AI) การเบิกจ่ายอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการพิสูจน์ตัวตน ฯลฯ

“ตอนนี้กำลังสร้างกลไกเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น เช่น ตอนนี้ รพ.ใช้โปรแกรมอะไรในการบันทึกข้อมูลคนไข้ ซึ่งเรากำลังสนับสนุนให้มีการเชื่อมต่อข้อมูลบริการร่วมกันระหว่าง รพ. และขยายไประดับจังหวัด แล้วเราจะทำผ่านระบบ API เพื่อดึงเอาข้อมูลตรงนั้นมาตรวจสอบและทำการเบิกจ่ายให้” นพ.จเด็จกล่าว

ทว่า สปสช.ก็ต้องสร้างสมดุลระหว่างผู้ตรวจสอบ หน่วยบริการ และประชาชนผู้รับบริการ เพราะที่ผ่านมา เคยเกิดปัญหามาแล้ว ดังนั้น โจทย์สำคัญคือ การตรวจก่อนจ่ายแล้วต้องจ่ายเร็วด้วย ซึ่งตั้งเป้าว่าต้องตรวจก่อนจ่ายให้ได้ 100%

“อนาคตมองว่า หากจ่ายเงินได้รวดเร็วกว่าเดิม หน่วยบริการต่างๆ ก็จะมีเงินหมุน เขาจะตำหนิเราไม่ได้ หลายคนบอกว่า เราเก็บเงินไว้เยอะแยะ กล่าวหาโน่นนี่ไม่เป็นความจริงเลย องค์กรเราไม่มีผลประโยชน์จากการเก็บเงินส่วนนี้ไว้ ในทางตรงกันข้าม ใช้ไม่หมดสำนักงบประมาณจะตัดเงินก้อนนี้ด้วย ถือเป็นการลงโทษที่ใช้เงินไม่หมด ครั้นจะให้เราไปจ่ายโดยไม่สนใจอะไรเลย ก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นเงินภาษีของประชาชน” นพ.จเด็จระบุ

นพ.จเด็จกล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อว่าอีกไม่นานโควิดจะผ่านพ้นไป ประเด็นคือ สปสช.ต้องกลับมาอยู่ในบทบาทหน้าที่เดิม เพราะยังมีโรคอีกมากที่ยังไม่ได้อยู่ในบริการรักษา

บทเรียนที่ได้จากโควิด-19 คือความรวดเร็ว การเข้าใจบทบาทของตนเอง และการเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. ในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ รวมถึงความกล้าที่จะมุ่งไปในทิศทางที่สนับสนุนการรับบริการของประชาชนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image